
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 2 พ.ค. 2568 ที่ห้องประชุม 3 อาคาร HS05 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สานพลังภาคีอาสา จ.ขอนแก่น จัดประชุม “สานพลังภาคีอาสา สร้างจังหวัดเข้มแข็ง” ภายใต้การทำงาน ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง หรือ ภสพ. แลกเปลี่ยนเรียนรู้การและกำหนดทิศทาง โดยการใช้ข้อมูลแก้ไขปัญหาสำคัญในพื้นที่เฉพาะ สนับสนุนการบูรณาการความร่วมมือ จ.ขอนแก่นน่าอยู่ สู่การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน มีนายไกรสร กองฉลาด ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดกิจกรรมร่วมกับผู้แทน 7 หน่วยงานและภาคีอาสา พร้อมกันนี้ยังจะได้นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมความสำเร็จ ที่ เทศบาลตำบลสาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพของไทยอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก โดยข้อมูลอายุคาดเฉลี่ยปี 2567 อยู่ที่ 76.56 ปี เป็นอันดับ 78 ของโลก ข้อมูลปี 2565 พบสาเหตุการตายในกลุ่มอายุน้อยและวัยทำงาน 170,000 คน เกิดจากอุบัติเหตุและโรคไม่ติดต่อ NCDs จึงเกิดการสร้างเสริมสุขภาพสานพลังระดับพื้นที่ ซึ่งทั้ง 7 หน่วยงานบูรณาการข้อมูลทำความร่วมมือในรูปแบบ “ภาคีอาสา” สร้างจังหวัดเข้มแข็ง สามารถวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ปัญหาได้ในพื้นที่ สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการสร้างโอกาสให้ประชาชนในระดับพื้นที่ ขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพของประเทศ

โดยจัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพที่สำคัญของจังหวัด ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต โดยแผนขับเคลื่อนปี 2568 ของ ภสพ. เริ่มต้นใน 5 จังหวัดเข้มแข็ง ได้แก่ เชียงราย นครสวรรค์ ขอนแก่น ตราด และพัทลุง และในปี 2569 ขยายผลครอบคลุม 13 เขตสุขภาพ สร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจนทั้งการลดอัตราการป่วย การเพิ่มการเข้าถึงบริการ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานได้นำข้อมูลประชากร ข้อมูลด้านสุขภาพ ข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อายุคาดเฉลี่ย และระบบฐานข้อมูลภาคีอาสา สร้างข้อตกลงแผนงานยุทธศาสตร์การทำงานระดับจังหวัด

จ.ขอนแก่น มีความท้าทายในการพัฒนาอยู่หลายมิติ ส่วนบ้านสาวะถี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่นนั้น มีต้นทุนทางชุมชน ให้ความสำคัญในการใช้ข้อมูลเพื่อกำหนดการพัฒนา มีประสบการณ์ในการทำข้อมูลตำบล โดยใช้โปรแกรม TCNAP ที่นำมาใช้ดำเนินงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ชุมชน สะท้อนความพยายามของชุมชนในการจัดการและแก้ปัญหาของพื้นที่ ส่งผลให้เกิดเป็นชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง พัฒนาตำบลสุขภาวะผ่านการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่ พัฒนาเป็นนวัตกรรมในตำบลได้ ดังนั้นจึงได้นำภาคีอาสาลงพื้นที่เรียนรู้รูปธรรมความสำเร็จแล้วนำข้อมูลสกัดเป็นรูปธรรมสานพลัง พัฒนาโดยใช่พื้นที่เป็นพื้นฐาน สู่การสรุปการเรียนรู้และกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป