
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมโครงการบริการทุกช่วงวัยด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุขฯ จังหวัดสุรินทร์ จัด 13 คลินิกบริการประชาชน ช่วยเข้าถึงการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคสำคัญ มุ่งเป้าลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ พร้อมเดินหน้า “NCDs 1001” เขตสุขภาพที่ 9 ที่จะปรับพฤติกรรมผู้ป่วย NCDs ให้ได้ 100% ภายใน 1 ปี เผยที่ผ่านมา ผู้ป่วยเบาหวานของสุรินทร์ เข้าปรับพฤติกรรม 7,089 ราย หยุดยาได้ 435 ราย ลดยา 1,120 ราย ประหยัดค่ายาได้กว่า 14 ล้านบาทต่อปี





เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 17 พฤษภาคม 2568 ที่ โรงพยาบาลสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชำนาญ ชื่นตา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 และคณะผู้บริหาร ร่วม“โครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตสุขภาพที่ 9 จังหวัดสุรินทร์” โดยมี อสม. ร่วมงานกว่า 500 คน พร้อมมอบเครื่องช่วยฟัง 10 เครื่อง และฟันเทียม 5 ราย ให้กับผู้รับบริการ
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงและเท่าทียม และลดการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของคนไทย จึงได้จัดโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “อสม.มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” เพื่อให้บริการตรวจสุขภาพเชิงรุก ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรค ช่วยลดระยะเวลารอคอยการบริการ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยขับเคลื่อนร่วมกับกลไกนับคาร์บที่มี อสม. เป็นแกนนำในการสร้างเสริมสุขภาพและส่งต่อความรู้การนับคาร์บให้กับประชาชน 50 ล้านคน ภายในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประเทศในอนาคตได้ โดยกิจกรรมวันนี้เป็นครั้ง ที่ 7 คาดว่าจะมีผู้เข้ารับบริการ 1,200 คน









ด้าน นพ.สามารถกล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 9 เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อนงาน NCDs ผ่านโรงเรียนเบาหวานวิทยา และได้ตอบรับนโยบายลดโรค NCDs โดยจัดทำโครงการ “NCDs 1001” (เอ็นซีดีร้อยหนึ่ง) กำหนดยุทธศาสตร์ “ผู้ป่วย NCDs ปรับพฤติกรรม 100% ภายใน 1 ปี” นำร่องในอำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ และจะขยายผลให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ภายในปี 2569 โดยภาพรวมการลดโรค NCDs จังหวัดสุรินทร์ มีเครือข่าย อสม. กว่า 24,000 คน เป็นกลไกสำคัญ ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน ได้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้โรงเรียนเบาหวานวิทยา 5 แห่ง และ คลินิก NCDs รักษาหายครอบคลุมทุกพื้นที่ 234 แห่ง ใช้การ “นับคาร์บ” ผ่าน อสม. ครู ข และประชาชน ช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม สามารถคัดกรองสุขภาพประชาชนได้ถึง 576,826 คน ซึ่งมากกว่าเป้าหมาย คิดเป็น 117.21% ปักหมุด Health Atlas ได้ 97.86% สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานได้เข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรม 7,089 ราย ในจำนวนนี้หยุดยาได้ 435 ราย ลดยา 1,120 ราย ช่วยประหยัดค่ายาได้กว่า 14 ล้านบาทต่อปี
สำหรับการบริการประชาชนวันนี้มี 13 คลินิก ได้แก่ 1.โรค NDCs 2.การดูแลผู้มีภาวะโรคอ้วน 3.ต้อกระจกและจอประสาทตา 4.เครื่องช่วยฟัง 5.โรคไต 6.โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ 7.ตรวจมะเร็งปากมดลูก ฉีดวัคซีน HPV 8.ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 9.ผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) 10.บริการจิตเวชไร้รอยต่อ 11.สบช.โมเดล เพื่อสนับสนุนการบริการสุขภาพปฐมภูมิ 12.คัดกรองโรคตับอักเสบและตรวจวัดพังผืดในตับด้วยเครื่อง Fibroscan และ 13.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก