
วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่ อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี นายแพทย์ทวีรัชต์ ศรีกุลวงศ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ มอบหมายให้ นายบุรินทร์ จินดาพรรณ หัวหน้ากลุ่มงานสุขภาพ พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญ นายทัศน์เทพ ดลโสภณ นายคณัสนันท์ ภูจารึก และนายจักรพันธ์ โพธิ์มาตร ร่วมกับนักวิชาการคอมพิวเตอร์จากทั่วจังหวัด เเข้าร่วมการประชุมวิชาการเทคโนโลยีสารสนเทศด้านสาธารณสุขระดับชาติ ครั้งที่ 1 ภายใต้หัวข้อ “Digital Health Technology in Cybersecurity & PDPA Era” และเข้าร่วมอบรมเพื่อเรียนรู้เทคนิคการป้องกันภัยคุกคามไซเบอร์และการปฏิบัติตามกฎหมาย PDPA อย่างเข้มข้น โดยนายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้านสาธารณสุข ระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล





นายกิตติกร กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัล เพื่อบูรณาการข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่เท่าเทียมและยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน การนำเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบบริการสุขภาพจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ตัดสินใจได้แม่นยำและรวดเร็วขึ้น
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีข้อมูลสุขภาพของประชาชนในความดูแลจำนวนมาก จึงต้องมีการบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ควบคู่ไปกับการเคารพสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล


พันตำรวจเอกสุรพงศ์ เปล่งขำ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า ข้อมูลด้านสุขภาพถือเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว การเก็บรวบรวมหรือเปิดเผยข้อมูลอาจเกิดเหตุการณ์ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้ บันทึกข้อตกลงนี้จึงเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
การประชุมครั้งนี้ยังมีการเสวนาเรื่อง “สิ่งที่ผู้บริหารควรรู้เมื่อโรงพยาบาลถูกโจมตี (Cyber Attack) และการดูแลความปลอดภัยข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย PDPA” โดยพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

ทั้งนี้ มีผู้บริหารหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค นักวิชาการ นักวิจัย เจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 800 คน ซึ่งทีมจากจังหวัดกาฬสินธุ์จะนำความรู้ที่ได้รับกลับไปพัฒนาและยกระดับระบบสารสนเทศด้านสาธารณสุขของจังหวัดให้ปลอดภัยและทันสมัย พร้อมถ่ายทอดสู่บุคลากรทั่วทั้งจังหวัดต่อไป