อุทยานมิตรกาฬสินธุ์ ที่บัวขาว รับซื้อใบอ้อยลดการเผาร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5

อุทยานมิตรกาฬสินธุ์รับซื้อใบอ้อย ลดการเผาก่อนตัด แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 สร้างรายได้เพิ่มเกษตรกรอีกตันละ 1,000 บาท ชาวไร่อ้อยขานรับ เร่งใช้เครื่องอัดใบอ้อยส่งขายคึกคัก

เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อุทยานมิตรกาฬสินธุ์ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ มีเกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ต่างๆนำใบอ้อยที่ตัดเอาลำต้นเสร็จแล้วเข้ามาขายให้กับทางโรงงานอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยวันละ 200-300 ตัน โดยทางโรงงานตั้งเป้าการรับซื้อใบอ้อยในปีนี้ไว้ที่ 2.8 หมื่นตัน และปัจจุบันมีเกษตรกรนำใบอ้อยมาขายให้กับโรงงานแล้ว 1.4 หมื่นตัน เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่เริ่มที่จะงดเผาอ้อย ตัดอ้อยสด และนำใบมาขายเพิ่มมากขึ้น และทางโรงงานก็เปิดรับซื้อ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในโรงงาน และเป็นการรณรงค์งดการเผาอ้อยและช่วยป้องกันร่วมแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อีกทั้งยังทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยมีนายคมสันต์ เหล่าจูม ผู้อำนวยการด้านโรงงาน และนายศิริศักดิ์ เตียเจริญกิจ ผอ.ธุจกิจไฟฟ้า พร้อมด้วยพนักงานอุทยานมิตรกาฬสินธุ์ อำนวยความสะดวกในการรับซื้อ

ด้าน นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ประจำกลุ่มธุรกิจอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า กลุ่มมิตรผล มีมาตรการในการส่งเสริมเกษตรกรตัดอ้อยสดอย่างต่อเนื่อง และตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร โดยได้รณรงค์ให้เกษตรรายเล็กใช้เครื่องสางใบอ้อยก่อนจะใช้แรงงานคนตัด ขณะที่เกษตรกรรายกลางและรายใหญ่ จะส่งเสริมรถตัดอ้อย เพราะว่าการใช้รถตัดอ้อย 1 คัน ประหยัดค่าแรงและทดแทนแรงงานคนได้ ประมาณ 300 คน ที่สำคัญการตัดอ้อยสด ใบอ้อยยังสามารถสร้างมูลค่าให้กับเกษตรกร โดยเก็บใบมาขายให้กับโรงงาน ซึ่งราคารับซื้อหน้าโรงงานตันละ 1,000 บาท  ทั้งนี้ การเก็บใบอ้อยมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 500 บาท ใน 1 ไร่เกษตรกรจะได้เงินเข้ากระเป๋าไร่ละประมาณ 500 บาท ที่เป็นรายได้เพิ่มจากการขายอ้อย

นายไพฑูรย์ กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผลทุกโรงงานทั่วประเทศ ได้เริ่มรับซื้อใบอ้อยมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว โดยเริ่มแรกรับซื้อตั้งแต่หลักพันตัน เพิ่มขึ้นเป็นหลักหมื่นตัน จนปัจจุบันตั้งเป้าการรับซื้อไว้ที่ 2 แสนตัน และล่าสุดได้รับซื้อใบอ้อยจากสมาชิกหรือชาวไร่อ้อยตั้งแต่เปิดหีบเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา และขณะนี้มียอดการรับแล้วประมาณ 1 แสนตัน แต่ในการเก็บจะไม่ให้เก็บทั้งหมด เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรและทำให้ดินมีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ทั้งนี้ให้เก็บเพียง 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนใบอ้อยที่เหลือ 30 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือไว้คลุมดิน เพื่อรักษาความชื้น ป้องกันวัชพืช เกษตรกรให้การตอบรับดี เพราะช่วยเพิ่มรายได้จากการขยายใบอ้อย เป็นตัวชี้วัดว่าเกษตรกรมีการตัดอ้อยสดเพิ่มขึ้น เพราะการตัดอ้อยสดมีใบอ้อยให้อัดก้อนขาย เป็นการแก้ไขปัญหาและรณรงค์งดเผาอ้อยก่อนตัด ซึ่งเป็นแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับใบอ้อยที่รับซื้อจากเกษตรกร จะนำไปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลในโรงงาน

ขณะที่นายชาติไทย เปรินทร์  อายุ 37 ปี บ้านเลขที่ 40 หมู่ 5 บ้านหนองบัวทอง ต.สมสะอาด อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย กล่าวว่าตนปลูกอ้อยในที่ดินของตนเองและพื้นที่เช่าประมาณ 200 ไร่  ที่ผ่านมาตัดอ้อยสดเป็นประจำทุกปี โดยใช้รถตัด เพื่อประหยัดแรงงานและรวดเร็ว โดยเฉพาะยังได้ใบอ้อยขายส่งโรงงาน เป็นรายได้เสริมจากการขายอ้อยอีกทางหนึ่ง และผลดีจากการไม่เผาอ้อยก่อนตัด ยังได้ใบอ้อยที่เหลือจากการใช้รถตัดและอัดใบอ้อย ไว้เพื่อป้องกันวัชพืช รักษาสภาพความชุ่มชื้นให้แก่ดิน และช่วยให้ตออ้อยงอกดีอีกด้วย นอกจากตนจะร่วมโครงการกับบริษัทน้ำตาลมิตรผล  โดยไม่เผาอ้อยก่อนตัดแล้ว ยังเชิญชวนเกษตรกรนำใบอ้อยมาขาย เพราะหากเผาก่อนตัด จะถูกหักตันละ 30 บาท ขายอ้อยตัดสดจึงได้ราคาสูง และมีรายได้เสริมโดยขายใบอ้อยอีกตันละ 1,000 บาทอีกด้วย