
สองสามีภรรยาชาวอำเภอบัวเชด เจ้าของสวนทุเรียน ”สวนนิตติยา” จากชาวสวนยางที่ทำกันมาหลายปี ผันตัวเองมาแบ่งเนื้อที่ 5 ไร่ปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ผสมกล้วยมะนาวปลอดสารพิษ ประสบผลสำเร็จเกินคาด ร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรไม้ผลเชิงท่องเที่ยวตำบลจรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ สร้างรายได้กว่าปีละร่วมล้านบาท ขณะที่เจ้าของสวนเปิดสวนเชิญชวนลูกค้า ประชาชน และนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนและเลือกซื้อทุเรียนหมอนทอง เจ้าของสวนใจดีให้ทาน มังคุด เงาะ ลำใย และผลไม้อื่นๆ ภายในสวนโดยตรง โดยลูกค้า ประชาชนทราบข่าวเข้ามาชม หรือสั่งจองซื้อทุเรียนล่วงหน้าทั้งแบบเป็นลูก และเหมาทั้งต้นได้



วันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ที่สวนนิตติยา บ้านจรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ผู้สื่อข่าวพบกับนายสุริโญ โพธิ์ธรรม อายุ 40 ปี และ นางนิตติยา ผมงาม อายุ 36 ปี สองสามีภรรยาเกษตรกรบ้านจรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ได้แบ่งพื้นที่ว่างประมาณ 5 ไร่ปรับเปลี่ยนหันไปปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ผสมกล้วยมะนาวปลอดสารพิษ โดยได้ปลูกทุเรียนสายพันธุ์หมอนทองต้นใหญ่บนพื้นที่ 5ไร่ ได้ประมาณ 80 ต้นใหญ่ (ตัดขายได้) และต้นเล็กที่กำลังเจริญเติมโตให้ผลอีก 100 ต้น รวมแล้ว 180 ต้น ขณะนี้สามารถเก็บผลผลิตขายได้แล้วกว่า 80ต้นเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว และปลูกมังคุด เงาะ ผสมกล้วยมะนาวปลอดสารพิษ ทั้งนี้ยังได้ปลูกมะนาว และกล้วยหลายสายพันธุ์อีกอย่างละ 100 ต้นสลับกับต้นทุเรียน และมังคุด เงาะในแปลงเดียวกันด้วย เพื่อให้สามารถเก็บผลผลิตขายได้ตลอดทั้งปี



จากเมื่อก่อนทำสวนยางในหมู่บ้าน แต่ประสบปัญหาเรื่องดินฟ้าอากาศ และราคา ซึ่งตนและภรรยาได้ปรึกษากันว่าจะปลูกทุเรียนเพราะเห็นว่าไม้ผลราคาดีกว่ายาง จึงได้เริ่มกันปลูกไม้ผลกินได้ หลังจากหันมาปลูกทุเรียน เงาะ มังคุด ผสมกล้วยมะนาวปลอดสารพิษ ทำให้มีรายได้เฉลี่ยปีละร่วม 1ล้านบาท และคาดหากทุเรียน มังคุด และเงาะที่ปลูกไว้ให้ผลผลิตได้เต็มที่ทุกต้นจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ ซึ่งตนและภรรยาได้รวมกลุ่มกันร่วมกันของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรไม้ผลเชิงท่องเที่ยวตำบลจรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ โดยกลุ่มสวนมีทั้งหมดของอำเภอบัวเชด 14 กลุ่ม คือ สวนนิตติยา, สวนไตรคีรี, สวนสนุ๊กไอดิน, สวนไพรจิตร, สวนลุงเสมือน, สวนลงเสมียน, สวนสุขสมัย, สวนนายเล็ก, สวนวงค์แปลก, สวนธรรมรักษ์, สวนธัญญารัตน์, สวนโอปาฟาร์ม, สวนผู้ใหญ่ทองพูน, และสวนรางวัลชีวิต
นางสาวนิตติยา ผมงาม ผู้เป็นภรรยา เล่าว่า ตอนแรกที่นำต้นทุเรียน มังคุด และเงาะมาทดลองปลูกสลับกับมะนาว และกล้วย มีเกษตรกรในหมู่บ้านหลายคนพูดว่าไม่ได้ผลผลิตหรอกเพราะไม่ใช่พื้นที่ที่จะปลูกเงาะ ทุเรียนได้ แต่ตนพยายามศึกษาหาความรู้วิธีการปลูกและดูแลรักษาจากหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะทุเรียนเป็นไม้ผลที่ชอบพื้นที่ชุ่มชื้น ตนใช้วิธีต่อท่อเป็นระบบน้ำหยดและสปริงเกอร์ไปตามแปลงที่ปลูก ที่สำคัญจะไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้วิธีแบบธรรมชาติ คือนำใบและลำต้นของต้นกล้วยที่เก็บผลผลิตแล้วมาใส่บริเวณโคนต้นทุเรียนเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้นและเป็นปุ๋ยโดยธรรมชาติ และใช้น้ำหมักชีวภาพรดบำรุง และกำจัดวัชพืช ทำให้ทุเรียน มังคุด และเงาะ ที่ปลูกปลอดสาร ทั้งยังมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อยไม่แพ้จังหวัดอื่นที่เป็นแหล่งปลูกเลยทีเดียว หลังจากหลายคนได้ลิ้มรสชาติแล้วจะติดใจในรสชาติ
ขณะนี้ตนและสามีได้เปิดสวนนิตติยาให้ลูกค้า ประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่ทราบข่าวเข้ามาชม หรือสั่งจองซื้อทุเรียนล่วงหน้าทั้งแบบเป็นลูก และเหมาทั้งต้นได้ ซึ่งตนและสามีเจ้าของสวนนิตติยาให้ทาน มังคุด เงาะ ลำใย และผลไม้อื่นๆ ภายในสวนโดยตรง พร้อมกันนี้หากเกษตรกรรายใดที่สนใจสามารถมาเรียนรู้และซื้อต้นพันธุ์ที่สวนนิตติยาของตนได้ หรือติดต่อมายังเฟสบุ๊กชื่อว่า”นิตติยา ผมงาม” https://www.facebook.com/nit.ti.ya.phm.ngam หรือเบอร์โทรศัพท์ 061-0697225 ได้ทุกวัน



ทางด้านนายวัชรพงศ์ หาญนึก นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจรัส กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนตำบลจรัส ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติมาโดยตลอด และสนับสนุนพี่น้องชาวเกษตรกรสวนผลไม้ทุกสวน อีกทั้งช่วยประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชมสวน และเลือกซื้อผลไม้จากชาวสวนได้โดยตรง ทุเรียนที่เปิดสวนวันนี้เป็นพันธุ์หมอนทอง รสชาตินุ่มหอมหวาน ตัดใกล้สุกหรือสุกคาต้น ไม่มีการป้ายยาเคมีแต่อย่างใด ราคาขายหน้าสวน กิโลกรัมละ 130-150 บาท ซึ่งอำเภอบัวเชดมีพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในจังหวัดสุรินทร์
ขณะนี้ทุเรียนบัวเชดหรือในท้องถิ่นเรียก ทุเรียนบัวเชด มีคนให้ความสนใจสั่งจองเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางคนมาเที่ยวชมสวน และเลือกซื้อผลไม้ที่มีในพื้นที่หลายชนิด กลับไปฝากญาติพี่น้องได้ทานผลไม้คุณภาพดี ของดีอำเภอบัวเชด พร้อมกับท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่สวยงาม อาทิเช่น น้ำตกไตรคีรี น้ำตกถ้ำเสือ น้ำตกกินรี และมีอ่างเก็บน้ำบ้านจรัส อ่างเก็บน้ำบ้านทำนบ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์และมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ขนาดนี้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลจรัส กำลังพัฒนาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และพร้อมให้การสนับสนุนส่งเสริมพี่น้องเกษตรกรที่ปลูกผลไม้ในพื้นที่ตำบลจรัส เพื่อให้เป็นเมืองผลไม้อย่างเต็มรูปแบบ
ด้านนายรณภพ บุตรสยาตรัส นายอำเภอบัวเชด กว่าว่า สวนทุเรียนของอำเภอบัวเชดกลุ่มสวนมีทั้งหมดของอำเภอบัวเชด 14 กลุ่มของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรไม้ผลเชิงท่องเที่ยวตำบลจรัส วันนี้เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้นักท่องเที่ยว นักชิม ให้มาท่องเที่ยวชมสวนและเลือกซื้อผลไม้ และสิ่งที่น่ายินดีที่สุดก็คือ เกษตรกรชาวออำเภอบัวเชดประสบความสำเร็จในการปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งให้ผลผลิตที่ดีมาก แม้ว่าปีนี้จะประสบปัญหาภัยแล้ง แต่ก็ยังมีผลผลิตออกสู่ตลาดมากกว่า 80% ทั้งนี้อำเภอบัวเชดได้ส่งเสริมการปลูกทุเรียนและผลไม้ชนิดอื่นๆมาโดยตลอด ที่ผ่านมามีผลไม้คุณภาพออกสู่ท้องตลาดจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ทุเรียนในพื้นที่อำเภอบัวเชด กำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตและทยอยออกสู่ตลาด
จึงขอเชิญชวนผู้บริโภค นักท่องเที่ยวและประชาชนที่สนใจมาเที่ยวชมสวนชมทุเรียนทั้ง 14 สวน เลือกซื้อทุเรียน มังคุด เงาะ และลำใย เพื่อเป็นการสนับสนุนเกษตรกร ให้มีรายได้ ที่สำคัญนักท่องเที่ยวจะได้รับประทานทุเรียนที่แก่จัด ซึ่งมีระยะเวลาการตัดเก็บ 130-140 วัน ซึ่งจะทำให้ทุเรียนมีรสชาด หอม หวาน มันส์ กรอบนอกนุ่มใน กลิ่นไม่ฉุนจนเกินไป เม็ดเล็ก เนื้อเยอะอีกด้วย