
รองนายกรัฐมนตรี ประเสริฐ จันทรรวงทอง ลงพื้นที่หนองคาย ประเมินสถานการณ์น้ำโขง คาดปีนี้เสี่ยงสูง ฝนตกชุก สั่งทุกหน่วยเตรียมความพร้อมรับมือ ลดความเสียหายจากน้ำท่วมแก่ประชาชนให้น้อยที่สุด


วันนี้ (13 ก.ค.68) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ลงพื้นที่จังหวัดหนองคาย โดยจุดแรกไปที่ศาลากลางจังหวัดหนองคาย ประชุมและเปิดศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับนายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมาตรการในการรับมืออุทกภัยของจังหวัดหนองคาย,สกลนคร, มุกดาหาร, นครพนม,บึงกาฬ,อุดรธานี และ จ.เลย
จากนั้นได้เดินทางไปติดตามมาตรการรองรับฤดูฝน จุดที่ 1 บริเวณพระธาตุหล้าหนอง ริมแม่น้ำโขง เขตเทศบาลเมืองหนองคาย มีนายอรรถพร ภักดีสุจริต นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย ให้ข้อมูลมาตรการเตรียมการและสถานการณ์น้ำโขง จากนั้นไปยังชุมชนจอมมณี อ.เมืองหนองคาย พบปะประชาชน และในช่วงบ่ายเดินทางลงพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยมาตรการรองรับของเทศบาลเมืองท่าบ่อ อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย


นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า รัฐบาลห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำ เข้าสู่ฤดูฝนขณะนี้มีฝนตกลงมาในทุกพื้นที่ของไทยและ สปป.ลาว ส่งผลให้น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น กระทบหลายพื้นที่ จึงมีความจำเป็นต้องทำงานเชิงรุก การตั้งศูนย์อำนวยการน้ำส่วนหน้า(ชั่วคราว)ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดหนองคายในครั้งนี้จะเป็นการติดตามสถานการณ์น้ำโขงอย่างใกล้ชิด ซึ่งจากการประเมินของ กนช. พบว่ามีโอกาสสูงที่น้ำโขงจะล้นตลิ่ง ช่วงปลายเดือน ก.ค.- ส.ค.นี้ และปริมาณน้ำจะมากกว่าปี 2567 ที่ผ่านมา 2 เมตร
ดังนั้นจึงต้องวางแผนเตรียมการรับมือ ทั้งบุคลากร และเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ การประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดจะทำให้วางแผน บริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่จะต้องมีการพร่องระบายน้ำออกเพื่อรับมวลน้ำรอบใหม่ ฝนปีนี้มีปริมาณมากและฝนตกต่อเนื่องยาวนาน นอกจากนี้ยังได้ประสานความร่วมมือกับ สปป.ลาว ที่จะทำงานเชิงรุกร่วมกันเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำโขงล้นตลิ่ง น้ำท่วม ลดความเสียหายที่กระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด

ด้านนายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จ.หนองคาย ในวันนี้ อยู่ที่ 6.93 เมตร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ความจุแหล่งน้ำปัจจุบัน ร้อยละ 68 มากกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยอยู่ที่ 300 มม. สูงกว่าภาคปกติ ซึ่งปี 2567 ระดับน้ำโขงสูงสุด 13.82 เมตร ขณะที่ตลิ่งรับได้ 12.20 เมตร ทำให้เกิดน้ำโขงล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในวันที่ 15 ก.ย.67 จ.หนองคาย ได้ออกประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย 9 อำเภอ 59 ตำบล ความเสียหายประชาชน 14,472 ครัวเรือน น้ำในลำน้ำสาขา เช่น ห้วยหลวง และน้ำสวน ก็ไหลท่วมพื้นที่ อ.โพนพิสัย เช่นกัน
ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะเกิดอุทกภัย มีพื้นที่เฝ้าระวัง 2 จุด ทางจังหวัดได้สั่งการให้ อบจ. เทศบาล และท้องถิ่นต่าง ๆ เตรียมรับมืออุทกภัย เตรียมกระสอบทราย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ประสานงานกับ ปภ.เขต 4 และ หน่วยทหารพัฒนา (นพค.25) ในพื้นที่ เตรียมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำและกำลังพลให้พร้อมช่วยเหลือประชาชน และย้ำกับประชาชนให้รับฟังข้อมูลจากส่วนราชการ กรมอุตุนิยมวิทยา หากพบจุดเสี่ยงน้ำท่วมให้แจ้งเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ทันที