
นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ฟื้นฟูประเพณี “ทำนาวาน” หรือลงแขกดำนา ตามวิถีชาวอีสาน นำกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถอนกล้าและปักดำ รณรงค์ทำนาอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยคอกบำรุง ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ตั้งเป้านำผลผลิตข้าวเปลือกเป็นเมล็ดพันธุ์ ส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวสารมอบให้ครัวเรือนยากจน และบรรจุภัณฑ์เป็น “ข้าวเหนียวบ้านยาง” เป็นของฝากปีใหม่

วันที่ 14 กรกฎาคม 2568 นายเอกรัตน์ มิสา นายอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในฤดูกาลทำนาปีนี้ ได้ร่วมกับชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ใน 15 ตำบลจำนวน 208 หมู่บ้าน ฟื้นฟูประเพณีทำนาวาน หรือลงแขกดำนา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 กำหนดพื้นที่บริเวณที่ดินว่างเปล่าด้านหลังที่ว่าการอำเภอประมาณ 3 ไร่ ซึ่งจัดเป็นโซนแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้านโบราณแสดงวิถีชาวอีสาน และศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรบ้านกุดสังข์ ต.ยางตลาด อุทิศพื้นที่แปลงนาประมาณ 7 ไร่ ในการเข้าร่วมโครงการ สำหรับดำนาโดยใช้พันธุ์ข้าวเหนียว กข. 6 ทั้งนี้ได้ร่วมกิจกรรมลงแจกดำนาเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ที่ผ่านมา

นายเอกรัตน์กล่าวว่า การลงแขกดำนาดังกล่าว ถือเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์วิถีทำนาแบบดั้งเดิมเอาไว้ ที่นับวันจะสูญหายไป เหมาะสำหรับครัวเรือนเกษตรกรที่ขาดแคลนแรงงาน เพื่อประหยัดค่าจ้างแรงงาน แสดงออกถึงความสมัครสมานสามัคคีในชุมชน โดยเฉพาะจะเป็นการเพิ่มผลผลิตข้าว และคัดคุณภาพข้าวได้เป็นอย่างดี เพราะการทำนาดำนั้นดูแลง่าย ได้ผลผลิตสูงหว่าทำนาหว่าน ทั้งนี้ ยังได้จัดเป็นแปลงนาสาธิตข้าวอินทรีย์ รณรงค์ใช้ปุ๋ยคอก และลดการใช้ปุ๋ยเคมีที่ราคาสูง เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทำให้ดินเสื่อมโทรมอีกด้วย

นายเอกรัตน์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผลผลิตข้าวเปลือกที่จะได้จากแปลงนาสาธิตทั้ง 2 แห่งนี้ คาดว่าน่าจะได้ผลผลิตรวมไม่น้อยกว่า 4-5 ตัน จะนำมาแบ่งเป็น 3 ส่วนคือเป็นเมล็ดพันธุ์สำหรับใช้เพาะปลูกในปีต่อไป โดยจะแบ่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เข้ามาร่วมโครงการตามความเหมาะสม อีกส่วนหนึ่งนำไปสีเป็นข้าวสาร สำหรับนำไปมอบให้ครัวเรือนยากจน ตามโครงการกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และส่วนหนึ่งบรรจุภัณฑ์ สำหรับเป็นของฝาก “ข้าวเหนียวบ้านยาง” เพื่อเป็นของชำร่วยมอบให้กันและกันหรือมอบให้แขกผู้มีเกียรติ ในโอกาสเทศกาลปีใหม่และโอกาสต่างๆต่อไป
