
วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 คณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นำโดยนางสาวสุมิตรา จารุกำเนิดกนก รองประธานกรรมการ คนที่ 1 นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ รองประธานกรรมการ คนที่ 2 พร้อมด้วยคณะสมาชิกวุฒิสภา ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนครพนม เพื่อพบปะประชาชน รับฟังความคิดเห็น และสะท้อนสภาพปัญหาในพื้นที่


โดยมีนางสงวน มะเสนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้การต้อนรับและเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ บุญจันทร์ นายอำเภอเมืองนครพนม ซึ่งได้กล่าวรายงานสรุปภาพรวมสถานการณ์ในพื้นที่ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และตัวแทนภาคประชาชน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและนำเสนอปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพระธาตุพนม ชั้น 5 ศาลากลางจังหวัดนครพนม (หลังใหม่) อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
ในการนี้ นายสมศักดิ์ บุญจันทร์ นายอำเภอเมืองนครพนม ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนมในหลายมิติ อาทิ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การปรับปรุงและก่อสร้างถนน ขยายเขตไฟฟ้าและระบบประปา การเพิ่มแหล่งน้ำดิบเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร ตลอดจนรองรับการขยายตัวของชุมชนทั้ง 13 ตำบลในเขตอำเภอเมืองนครพนม ด้านเศรษฐกิจ มีข้อเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชาชนในพื้นที่ อาทิ การขุดเจาะบ่อบาดาล ขุดลอกแหล่งน้ำตื้นเขิน การเพิ่มสถานีสูบน้ำตามริมฝั่งแม่น้ำโขง และการขยายโครงการธนาคารโค-กระบือ


เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในระดับครัวเรือน ในส่วนของปัญหายาเสพติด ได้มีการดำเนินการตามแนวทาง “ชุมชนล้อมรัก” ควบคู่กับมาตรการ RE X-REY โดยดำเนินการตรวจปัสสาวะประชาชนอายุระหว่าง 12–65 ปี ซึ่งอาศัยอยู่จริงในพื้นที่ จากจำนวนทะเบียนราษฎร์ทั้งสิ้น 105,394 คน พบว่าอาศัยอยู่จริง 63,317 คน ได้รับการคัดกรองครบถ้วน 100% โดยพบผู้เสพรวม 520 คน แบ่งเป็นผู้ใช้ (สีเขียว) 325 คน ผู้เสพ (สีเหลือง) 185 คน และผู้ติดยาเสพติด (สีแดง) 10 คน ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกระบวนการบำบัดรักษา
นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสะสมของขยะในบ่อฝังกลบของเทศบาลเมืองนครพนม ส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบ รวมถึงปัญหาระบบระบายน้ำเสียที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งก่อให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ และสิ่งปฏิกูลไหลลงสู่แม่น้ำโขง ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของจังหวัด ซึ่งแนวทางการแก้ไขเบื้องต้นที่เสนอ ได้แก่ การส่งเสริมการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การพัฒนาระบบจัดการขยะแบบใหม่ เช่น การผลิตพลังงานจากขยะหรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดสร้างระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งรณรงค์งดเผาขยะและวัชพืช โดยส่งเสริมให้ใช้วิธีไถกลบทดแทน และด้านปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดนครพนมได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับผู้นำท้องถิ่นในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และเสริมสร้างความร่วมมือในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน



นางสาวสุมิตรา จารุกำเนิดกนก รองประธานกรรมการ คนที่ 1 กล่าวว่า สมาชิกวุฒิสภาให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะจังหวัดนครพนมซึ่งมีศักยภาพด้านการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง โดยมุ่งส่งเสริมให้เศรษฐกิจชายแดนเติบโตอย่างมั่นคงและรองรับการขยายตัวในอนาคต พร้อมเน้นย้ำว่าทุกข้อเสนอปัญหาจากประชาชนในพื้นที่จะถูกนำไปสู่การพิจารณาอย่างเป็นระบบ โดยส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือคณะกรรมาธิการวุฒิสภา เพื่อให้เกิดแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม และผลักดันข้อเสนอเชิงระบบให้สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ทางด้าน นายสากล ภูลศิริกุล สมาชิกวุฒิสภา ได้กล่าวถึง การจัดการขยะว่าควรนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เช่น เทคโนโลยีแปรรูปขยะเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งสามารถดำเนินการร่วมกับภาคเอกชนหรือบริษัทเอกชนที่มีศักยภาพ เพื่อแปลงปัญหาให้กลายเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน อีกทั้ง ยังมีแนวคิดในการวางแผนติดตั้งระบบโซลาร์รูฟ (Solar Roof) ในสถานที่ราชการ อาทิ โรงพยาบาล เพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และยกระดับความมั่นคงทางพลังงานในระดับท้องถิ่น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางพัฒนาของประเทศ