
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดมหกรรมตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา หลังพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคนี้เฉลี่ยปีละ 20,000 ราย

เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 16 กรกฎาคม 2568 ที่วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์มะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานมหกรรมการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี “ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม่ดับ ไม่ตายจากมะเร็งท่อนำดี”

เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ป้องกันตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมให้ปลอดภัยจากโรคพยาธิไปไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีนายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานมหกรรมฯ โดยภายในงานมีการให้บริการตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงโรคพยาธิใบไม้ดับ และตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงดังกล่าว เป็นกลุ่มที่มีประวัติเสี่ยง คือ เคยติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เคยกินยาถ่ายพยาธิใบไม้ตับ และ เคยกินปลาน้ำจืดแบบสุกๆ ดิบๆ

นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นปัญหาสาธารณสุขเฉพาะพื้นที่ โดยพบบ่อยในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (เขตสุขภาพที่ 7, 8, 9, 10) และปัจจุบันอัตราการติดเชื่อพยาธิไปไม้ตับที่พบโดยการตรวจปัสสาวะ ด้วยวิธี ELISA พบอัตราเฉลี่ยของการติดเชื่ออยู่ที่ 29.996 จากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 75,620 ราย ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน นอกจากนี้สัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีระยะแรกที่เข้าสู่การผ่าตัด เฉลี่ยร้อยละ 21 และอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีหลังการผ่าตัด 5 ปี เฉลี่ยร้อยละ 20 ที่ผ่านมามีการสร้างความรู้ที่เป็นต้นทุนในเรื่องโรคดังกล่าวอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็น ฐานข้อมูลกลุ่มเสี่ยง ระบบคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี ชุดตรวจคัดกรองโรค หลักสูตรภูมิคุ้มกัมกันโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี คู่มือการผลิตปลาร้า ปลาส้มปลอดภัย ฯลฯ แต่ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร เนื่องจากยังมีการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวสูงถึง 6,500 รายต่อปี

“ทั้ง ๆ ที่โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ป้องกันและรักษาได้ ถ้าสามารถคัดกรองกลุ่มเสี่ยงให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว ทั้งนี้ สวรส. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัยหลัก ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ประเทศไทยปลอดโรคพยาธิใบไม้ตับและลดอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งท่อน้ำดี ตั้งเป้าหมายการขับเคลื่อน เพื่อนำไปสู่การลดความชุกของการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับ สำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ จะช่วยกันผลักดันให้เกิดความปลอดภัย ตั้งแต่เรื่องสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมการบริโภคที่ถูกต้อง เพื่อลดการบริโภคปลาดิบที่มีพยาธิใบไม้ตับ การคัดกรองเพื่อให้คนที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี สามารถถูกค้นพบได้เร็วขึ้น”

ด้าน รศ.ดร.วัชรินทร์ ลอยลม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มข. กล่าวว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เฉลี่ยปีละ 20,000 ราย และในจำนวนผู้ป่วย 20,000 รายนี้ พบว่าในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จะมีการเสียชีวิตไปกว่า 70% และมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นอีกในระยะเวลาประมาณ 2 ปี โดยเฉลี่ยเสียชีวิตปีละ 20,000 ราย จากสถิติที่มีการรวบรวมเอาไว้ ยังพบว่า ช่วงอายุของผู้ที่เริ่มป่วยฯ จะมีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยมากสุดมีอายุประมาณ 55 ปี

ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน เป็นหัวหน้าครอบครัว ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าตกใจและส่งผลกระทบต่อทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ความน่ากลัวของโรคนี้คือ เมื่อติดพยาธิแล้วจะไม่ได้เสียชีวิตในทันที แต่จะใช้เวลาในการก่อมะเร็ง โดยพยาธิจะเข้าไปอยู่ในท่อน้ำดี เกิดการอักเสบรื้อรังอยู่ประมาณ 10 – 15 ปี ก่อนจะกลายเป็นมะเร็ง ซึ่งหากตอนเป็นพยาธิแล้วมีการทานยาและกำจัดพยาธิก็จะช่วยป้องกันการเป็นมะเร็ง แต่เมื่อไหร่ที่ทิ้งพยาธิเอาไว้จนเป็นมะเร็ง ไปสู่ระยะที่จะต้องผ่าตัดรักษา จะต้องมีค่าผ่าตัดรักษาอย่างต่ำ 3 -4 แสนบาทต่อเคส (เฉพาะเคสที่ผ่าตัดได้) ฉะนั้นในแต่ละปีประเทศไทยจะใช้ค่าใช้จ่ายในการดูแลคนไข้มะเร็งท่อน้ำดีเป็นเงินหลักหมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในภาพรวมปัจจุบันถือว่าดีขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา