
กรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม มุ่งพัฒนาเมืองตามศักยภาพพื้นที่ชายแดน

วันที่ 17 กรกฎาคม 2568. ที่ห้องประชุมศรีวรขาน สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนมอำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนมว่าที่ร้อยตรีรวยรุ่ง ใครบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม โดยมีนางสาวคณิชยา รอดเรืองศรี ในนามผู้แทนจากกรมโยธาธิการและผังเมือง และบริษัท เอเชีย แพลนนิ่ง คอนซัลแทนท์ จำกัด (ที่ปรึกษาโครงการ) หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้มอบหมายให้บริษัทที่ปรึกษาฯ ดำเนินงานวางและจัดทำผังเมืองรวมเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนครพนม ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผังเมืองรวมดังกล่าวเป็นผังแม่บทที่ใช้ในการชี้นำการพัฒนาเมือง พร้อมกำหนดแนวทางและมาตรการทางด้านผังเมือง เพื่อรองรับการขยายตัวของพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนให้เป็นระบบและเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอร่างผังเมืองรวม ซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดของแผนที่ แผ่นผัง ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน และบัญชีท้ายข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยเปิดให้ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นได้ทั้งด้วยวาจาในที่ประชุม และเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านแบบ สค. (หนังสือแสดงความคิดเห็นในการวางและจัดทำผังเมืองรวม) ซึ่งข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเหล่านี้จะนำไปใช้ในการปรับปรุงและจัดทำผังเมืองรวมให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ว่าที่ร้อยตรีรวยรุ่ง ใครบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ได้กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ และการท่องเที่ยว โดยมีพระธาตุพนมเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชน สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 เชื่อมโยงการคมนาคม และทิวทัศน์ริมฝั่งโขงที่งดงาม ถือเป็น “เมืองที่มี 3 สิ่งอันเป็นที่สุด” ได้แก่ (1) ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด (2) สวยที่สุด และ (3) งามที่สุด ด้วยความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จังหวัดนครพนมจึงเป็นประตูสำคัญของการค้าชายแดน การท่องเที่ยว และการลงทุน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และนครพนมเป็นจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพด้านการค้าชายแดน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงผ่าน “เส้นทาง R12” ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศที่เชื่อมจากจังหวัดนครพนม ผ่านแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว ไปยังประเทศเวียดนาม จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นประตูเศรษฐกิจสู่อินโดจีน ทำให้จังหวัดนครพนมเป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน การตั้งถิ่นฐาน และการบริหารจัดการทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ