ข่าวอัพเดทรายวัน

“อนุพงษ์” ลงพื้นที่มอบนโยบายขับเคลื่อนแนวทางแก้จน ระดับพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน

“อนุพงษ์” ลงพื้นที่มอบนโยบายขับเคลื่อนแนวทางแก้จน ระดับพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน กำชับ ผู้ว่าฯ – นายอำเภอ ต้องบูรณาการทุกภาคส่วนวิเคราะห์สภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขให้ตรงจุด เพื่อขจัดความยากจนให้หมดไปพร้อมเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 11 มี.ค.65 ที่ โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ) และมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อน ศจพ.ในระดับพื้นที่ภาคอีสาน โดยมีคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย ผวจ.ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดจังหวัด พัฒนาการจังหวัด ท้องถิ่นจังหวัด และนายอำเภอ ร่วมรับฟัง ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างเคร่งครัด

พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมขับเคลื่อนแนวทางการขับเคลื่อนศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในการปฏิบัติมีรายละเอียด มีจุดเน้นที่ต้องบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อมาแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของ (ศจพ.) มีเป้าหมายสำคัญ คือ การแก้ปัญหาความยากจน แบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน หรือ “การตัดเสื้อให้พอดีตัว” โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (อขจพ.) มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ไปจนถึงระดับปฏิบัติในพื้นที่ 3 ระดับ ได้แก่ ระดับจังหวัด ผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัด (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ ผ่านศูนย์อำนวยการปฏิบัติการฯ อำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในระดับพื้นที่ และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” เข้าไปจัดทำแผนครัวเรือนร่วมกับทุกครัวเรือนยากจนในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน เพื่อไปรับทราบปัญหา ช่วยหาทางแก้ไข และให้การสนับสนุนให้ครัวเรือนมีการวางแผน/แก้ปัญหาตรงตามสภาพปัญหาที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญ เมื่อทราบปัญหาของแต่ละครอบครัวแล้ว ทีมพี่เลี้ยงจะได้นำข้อมูลมารายงาน ศจพ. อำเภอ เพื่อบูรณาการความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เสร็จในระดับอำเภอ ทั้ง 5 มิติ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “5 เมนูแก้จน” ได้แก่ 1) สุขภาพ เช่น การดูแลสุขภาพ การติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง 2) ความเป็นอยู่ เช่น ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัย 3) การศึกษา เช่น การฝึกอาชีพ 4) ด้านรายได้ เช่น การจัดหาที่ดินทำกิน เกษตรแปลงใหญ่ และ 5) การเข้าถึงบริการภาครัฐ เช่น สนับสนุนเบี้ยผู้พิการ ผู้สูงอายุ ให้ผู้ที่ตกหล่นจากระบบ โดยทีมพี่เลี้ยงจะลงไปพื้นที่เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ในลักษณะ Intensive care

“สิ่งสำคัญที่มาเน้นย้ำในวันนี้ คือ ระดับพื้นที่ เรามี ศจพ.จังหวัด อำเภอ ตำบล และทีมพี่เลี้ยงในระดับพื้นที่ ความสำเร็จหรือล้มเหลวทั้งหมดอยู่ที่กลไกในพื้นที่ทั้งหมด โดยเฉพาะ “ทีมพี่เลี้ยง” ที่ต้องดำเนินการวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท. คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก โดยให้ครัวเรือนมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ การคิด ตามสภาวะแวดล้อมที่สามารถทำได้ และไม่เป็นการบังคับให้เขาทำ โดยพัฒนากรเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ทีมพี่เลี้ยงไปสำรวจให้รู้ปัญหา รู้แนวทางการทำงาน และวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดให้ออกมา ด้วยการนำข้อมูลบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน พร้อมทั้งติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด ในลักษณะ Intensive Care และบันทึกในระบบ Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ศจพ.อำเภอ ต้องมีความเข้าใจ “เมนูแก้จน” ทั้ง 5 เมนู รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า โดยนายอำเภอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการ ทั้งนี้ หากพบสภาพปัญหานอกเหนือจากเมนู ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขในระดับอำเภอได้ให้รายงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการ และหากเป็นสภาพปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับนโยบาย ให้รายงานมายังกระทรวงมหาดไทยเพื่อนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พิจารณาสั่งการต่อไป” พลเอก อนุพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

สุดท้าย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เน้นย้ำนโยบายการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ ได้แก่ 1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด บูรณาการทุกภาคส่วนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเฉพาะบริเวณทางข้าม “การข้ามถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก” โดยบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวดสูงสุด และทำให้คนขับรถมีวัฒนธรรมการใช้รถใช้ถนน รู้กติกา มารยาท และมีจิตสำนึกที่จะคิดถึงความปลอดภัยของคนอื่น ต้องมีจิตวิญญาณใช้ถนนที่ดี เมื่อถึงทางคับขันต้องชะลอรถ.