ข่าวอัพเดทรายวัน

ม.อุบลฯ แถลงข่าวการจัด “กิจกรรม International Young Startup Contest 2022” โครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แถลงข่าวการจัด “กิจกรรม International Young Startup Contest 2022” โครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ณ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นางสาวสุณีย์ เลิศเพียรธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี และ รองศาสตราจารย์ ดร.ชวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้ร่วมการแถลงข่าว กิจกรรมแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022) เป็นโครงการร่วมพัฒนาหน่วยบ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ภายใต้กรอบความร่วมมือการดำเนินงานหน่วยบ่มเพาะธุรกิจในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าภาพ กิจกรรมนี้จัดขึ้นโดยวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator) ในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) สร้างเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (Business Incubator Network) ในประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีป เน้นกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเชื่อมโยงไปสู่กลุ่มประเทศในคาบสมุทร และเสริมสร้างประสบการณ์การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้นในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) ผ่านกลไกเตรียมความพร้อมเข้าสู่การบ่มเพาะธุรกิจในระยะสั้น โดยกิจกรรมสำคัญในงาน เป็นกิจกรรมการพัฒนานักศึกษาและบ่มเพาะผู้ประกอบการใหม่ และมีการจัดแข่งขันแนวคิดทางธุรกิจระดับนานาชาติ (International Young Startup Contest 2022) ทั้งนี้เพื่อเป็นการฝึกอบรมและถ่ายทอดกระบวนการพัฒนานักศึกษาเป็นผู้ประกอบการให้แก่สถาบันเครือข่าย รวมทั้งเพื่อสร้างเวทีให้บุคลากรของสถาบันเครือข่ายได้ทดลองปฏิบัติการจริงผ่านกลไกการพัฒนานักศึกษาเพื่อการแข่งขันผู้ประกอบการ ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้จัดขึ้นทั้งหมด 5 ช่วงดังนี้
ช่วงที่ 1: 23-26 เมษายน 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ช่วงที่ 2: 11-14 พฤษภาคม 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศราชอาณาจักรกัมพูชา
ช่วงที่ 3: 1-4 มิถุนายน 2565 กิจกรรมค่ายผู้ประกอบการในประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ช่วงที่ 4: 18 มิถุนายน 2565 กิจกรรมคัดเลือกตัวแทนประเทศไทย
ช่วงที่ 5: 9 กรกฎาคม 2565 กิจกรรมการแข่งขันรอบระดับนานาชาติ ณ ประเทศไทย (รอบตัดสิน)


กิจกรรมนี้มีการสนับสนุนงบประมาณ ให้กับสถาบันและทีมจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยสถาบันการศึกษาที่ได้รับเลือก จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการจัดกิจกรรมค่ายผู้ประกอบการ จำนวน 1 ครั้ง พร้อมทั้งการสนับสนุนวิทยากรและพี่เลี้ยงจากประเทศไทย โดยทีมนักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเป็นทีมตัวแทนประเทศต่างๆ จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการเข้าร่วมการแข่งขันรอบระดับนานาชาติ ณ ประเทศ พร้อมทั้งค่าที่พักและค่าอาหารตลอดระยะเวลาการแข่งขันในประเทศไทย และ เงินรางวัลการแข่งขันในรอบนานาชาติ จำนวน 5 รางวัล แบ่งเป็น
รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 50,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 30,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
รางวัลชมเชย จำนวน 2 รางวัล รางวัลละ 10,000 บาท พร้อมใบประกาศเกียรติคุณ
กิจกรรมนี้นอกจากจะช่วยพัฒนานักศึกษาให้สามารถเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในอนาคตแล้ว กิจกรรมนี้ยังสามารถช่วยเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม และยังช่วยหนุนเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงทางธุรกิจ เป็นการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และสร้างการเรียนรู้ตลาดเชิงลึกของประเทศอาเซียนภาคพื้นทวีปอีกด้วย โดยกิจกรรมดังกล่าว จะมีการส่งเสริมผลงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของ Startup และนำสู่ตลาดของกลุ่มประเทศต่างๆ ซึ่งจะเป็นการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไปด้วย