ข่าวอัพเดทรายวัน

พช.นครพนม ขับเคลื่อน “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” พื้นที่อำเภอเมืองนครพนม

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ครัวเรือนเป้าหมาย บ้านเลขที่ 207 หมู่ที่ 2 บ้านนาคอกควาย ตำบลดงขวาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวลัดดา ศรีบุรมย์ นักวิชาการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ขับเคลื่อนโครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2565 เพื่อเตรียมความพร้อมสำรวจปัญหาความต้องการด้านอาชีพและประสานความร่วมมือกับส่วนราชการและภาคเอกชน ในการดำเนินงานกิจกรรมจังหวัดเคลื่อนที่ ประจำเดือนมีนาคม 2565 ในวันที่ 24 มีนาคม 2565 นี้ ณ โรงเรียนบ้านนาคอกควาย หมู่ที่ 2 บ้านนาคอกควาย ตำบลดงขวาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม

ครัวเรือนยากจนเป้าหมาย นางแถม ศรีษร อายุ 78 ปี อยู่บ้านเลขที่ 207 หมู่ที่ 2 บ้านนาคอกควาย ตำบลดงขวาง อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม อาศัยอยู่คนเดียว เป็นโรคหอบหืด มีอาชีพรับจ้างล้างผักหอมแบ่ง กิโลกรัมละ 5 บาท และสานกระติบข้าวขายส่งพ่อค้าในชุมชน สามีเสียชีวิต สภาพปัญหาของครัวเรือน ด้านอาชีพ ขาดแคลนทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพ ต้องการไม้ไผ่ และเส้นด้าย เป็นวัสดุในการสานกระติบข้าว ด้านสุขภาพ ป่วยเป็นโรคหอบหืด ด้านที่อยู่อาศัยชำรุดทรุดโทรม แต่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจาก อบต.ดงขวางและผู้นำชุมชน ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยเมื่อปี 2564 แล้ว

สำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอเมืองนครพนม โดยนายศักดิ์ชัย อามาตย์สมบัติ พัฒนาการอำเภอเมืองนครพนม มอบหมายนายขจร คงอ่อน นักวิชาการพัฒนาชุมชนชำนาญการ ร่วมลงพื้นที่กับทีมพี่เลี้ยงและทีมปฏิบัติการตำบล สอบถามปัญหาและความต้องการของครัวเรือน ผนึกกำลังเพื่อประสานการช่วยเหลือครัวเรือนอย่างดียิ่ง
โครงการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง “นครพนม สร้างสังคมอุดมสุข ทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน” ประจำปี 2565 เป็นโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนเป้าหมายที่ประสบความเดือดร้อนและยากจน ประกอบด้วย ครัวเรือนไม่ผ่านเกณฑ์ จปฐ.ปี 2564 ด้านรายได้ ข้อ 22 (รายได้เฉลี่ยต่ำกว่า 38,000 บาท/คน/ปี) ครัวเรือนจากระบบการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TPMAP) ปี 2562 และครัวเรือนที่ได้รับความเดือดร้อนจากเวทีประชาคม ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ ด้านสุขภาพ ด้านความเป็นอยู่ ด้านการศึกษา ด้านรายได้ และด้านการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยบูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง