ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม โคก หนอง นา ที่มาพร้อมการทำบุญและประชาสัมพันธ์

วันที่ 23 มีนาคม 2565 นายสวงเดช ธรรมชัย พัฒนาการอำเภอท่าอุเทน เปิดเผยว่า จากที่สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนมได้มีโครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงกิจกรรมศูนย์เรียนรู้ โคก หนอง นา โมเดล เมื่อปี 2564หลังจากที่คุณวิไล แสงนิกุลได้สมัครเข้ามาพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ก็ได้มีการประสานส่งตัวไปฝึกอบรมเกี่ยวกับการทำ โคก หนอง นา จำนวน 3 วัน 4 คืน แล้วก็ให้ได้ใช้วิชาที่ไปฝึกอบรมมา มาพัฒนาในแปลงเกษตรของตัวเอง ในส่วนของสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอท่าอุเทน ก็ได้มีการประสานการขุดแปลงนาเพื่อปรับปรุงให้เป็น โคก หนอง และนา ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จในตอนนั้น ก็มีนักพัฒนาพื้นที่ร่วมกับพัฒนากร ลงพื้นที่สนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการ โดยได้เข้ามาแนะนำ สนับสนุนพันธุ์พืชและต้นไม้ รวมถึงกระตุ้นให้เจ้าของแปลงได้ใช้ความรู้ที่ฝึกอบรมมาร่วมกับทางชุมชน ผ่านกิจกรรมเอามื้อสามัคคี จำนวน 3 ครั้ง โดยการขับเคลื่อนตรงนี้ถือว่ามีความท้าทายเป็นอย่างมากเพราะแปลงที่ขุดขึ้นมาเป็นดินที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์

นางวิไล แสงนิกุล เกษตรกรบ้านตาลปากน้ำ หมู่ที่ 2 ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม กล่าวว่า พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่โนน และเมื่อขุดดินขึ้นมาจากสระก็จะมีก้อนหินเล็กๆ ที่ชาวบ้านเรียกหินแฮ่ติดขึ้นมาด้วย ทำให้ดินไม่มีคุณภาพ ดังนั้นจึงมีการวางแผนการปลูก ในการลักษณะการปรับปรุงบำรุงดิน ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วยรวมกับอึเอ็ม ซึ่งอีเอ็มจะไปหาซื้อมาจากตลาดในราคาแกลลอนละ 70 บาท ก็นำมาขยายผสมกับจุลินทรีย์หน่อกล้วยที่ทำขึ้นมาเอง เพราะคิดว่าทั้ง 2 ตัวจะช่วยทำให้ดินมีคุณภาพดีเหมาะสำหรับการปลูกพืช นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำหมักมาใส่เพิ่มเติมด้วย ซึ่งพอเรานำมาใช้ก็ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี เพราะตะไคร้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงถึงมัดละ 120 บาท เนื่องจากมีกอใหญ่ ส่วนผลผลิตอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พริก มะเขือ โหระพา แมงลัก ซึ่งการขายก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร เพราะลูกค้าจะมาเก็บเอาเองที่สวน แต่ละวันจะมีรายได้ตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปจนถึง 200 กว่าบาท เพราะคนในพื้นที่ที่มาซื้อไปทำครัวที่บ้าน เราเพียงหาถุงไว้ให้ วันไหนไม่อยู่ลูกค้าที่เป็นเพื่อนบ้านก็จะจัดการเก็บเองแล้วก็นำเงินมาวางไว้ที่โต๊ะม้าหินอ่อนใต้ถุนบ้าน หรือถ้าวันไหนมีออเดอร์จากคนที่ทำโต๊ะจีนสั่งเข้ามาก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นไปอีก สำหรับการทำโคก หนอง นา นั้น แต่ละวันก็ใช้เวลาไม่มากเท่าไหร่ตื่นเช้าขึ้นมา 5:00 น ก็จะแบ่งโซนรดน้ำ พอสายหน่อยก็อาบน้ำไปวัดทำบุญ กลับมาเริ่มมีแดดก็นั่งเล่นหรือไม่ก็เตรียมพืชผักที่เราจะปลูกในเรือนเพาะชำ เป็นการเพาะกล้าไว้ ตอนเย็นก็ดูแลส่วนที่เหลือไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็มีความสุขดี ได้ดูแลต้นไม้ ได้เดินไปรอบๆ แปลงเกษตร ยิ่งตอนแดดร้อนๆ เรามานั่งพักแล้วมองไปเห็นต้นไม้ออกยอด ผลิใบก็ดีใจแล้ว ถ้าอยากรับประทานปลาก็ตกเบ็ดมาปิ้งย่าง ซึ่งถ้าใครอยากทำโคก หนอง นา ในลักษณะแบบนี้ ก็อยากให้เอาใจใส่ต้นไม้และดูแลต้นไม้ให้ดี เพราะพืชและต้นไม้เหล่านี้รออาหารจากเราถึงจะเจริญเติบโต ต้องมั่นพรวนดิน ใส่ปุ๋ย รดน้ำ ซึ่งทุกวันนี้มีคนเข้ามาดูแปลง โคก หนอง นา ที่ทำอยู่เรื่อย ๆ ส่วนใหญ่ก็จะชอบถามว่าปลูกยังไงพืชและต้นไม้ถึงเขียวและเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เราก็ให้ความรู้ตามที่ทำไป

นายสวงเดช ธรรมชัย พัฒนาการอำเภอท่าอุเทน กล่าวเพิ่มเติมว่า ตอนนี้พอเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนมีพืชผักอะไรขึ้นมามากมายใช้เวลาเพียง 10 เดือน ก็เป็นที่สนใจของคนในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียงได้ มาดูมาศึกษา มาสอบถามกับเจ้าของแปลงอยู่เรื่อย ๆ ขณะเดียวกันเจ้าของแปลงพอมีงานบุญ หรือกิจกรรมอะไรในชุมชนก็นำผลผลิตที่ได้ไปแบ่งปันให้กับชาวบ้าน พร้อมประชาสัมพันธ์ว่ามาจากแปลง โคก หนอง นา ที่ทำ ทำให้ในพื้นที่เริ่มมีการขยายผลในส่วนนี้ตามมาด้วย