ข่าวสังคม ข่าวอัพเดทรายวัน ข่าวเศรษฐกิจ ประชาสัมพันธ์ วิถีชีวิต

ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ ย้ำแนวทางขับเคลื่อน ศจพ.ระดับพื้นที่ สั่ง นายอำเภอ ต้องเป็นแม่ทัพ บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาความยากจนแบบพุ่งเป้า อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  มอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ จังหวัดกาฬสินธุ์ เน้นย้ำให้นายอำเภอเป็นแม่ทัพ นำ ศจพ.อ. ทีมปฏิบัติการฯ และทีมพี่เลี้ยง บูรณาการทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนในทุกพื้นที่ ให้กับพี่น้องประชาชนทุกมิติให้เกิดความยั่งยืน

        

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 มีนาคม 2565 ที่ ห้องประชุมโสมพะมิตร ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล  ใจกริ่ม  ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์  เป็นประธานมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานขจัดความยากจน และพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้หัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ คณะกรรมการศูนย์อำนวยการปฏิบัติการการขจัดความยากจนฯ ระดับจังหวัด (ศจพ จ.) และระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) และทีมปฏิบัติการฯ ระดับตำบล ทั้งนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรมและเกิดการ บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจังหวัดกาฬสินธุ์ในทุกมิติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนในทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนและความเดือดร้อน ของพี่น้องประชาชน รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยขับเคลื่อนการดำเนินงานศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในระดับพื้นที่ โดยมีกลไกการดำเนินงานตั้งแต่ระดับนโยบาย โดยคณะกรรมการฯ ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ไปจนถึง ระดับจังหวัด  (ศจพ.จ.) ระดับอำเภอ (ศจพ.อ.) และระดับปฏิบัติการ ผ่านทีมปฏิบัติในระดับตำบล และได้มีการตั้ง “ทีมพี่เลี้ยง” ดูแลในระดับพื้นที่ โดยใช้ข้อมูลจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า  หรือ TPMAP เป็นฐานข้อมูลในการขับเคลื่อน ซึ่งในปี 65 จังหวัดกาฬสินธุ์ มีคนจนเป้าหมายในระบบ  8,794 ครัวเรือน จำนวน 15,284 คน        โดยเรื่องนี้ ถือเป็นวาระแห่งชาติ วาระจังหวัด วาระอำเภอ ที่ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ ทุ่มเทขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย โดยบูรณาการกลไก/เครือข่ายในพื้นที่ ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา  จับมือกลไกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ขอเน้นย้ำ ขุนศึกของพื้นที่ ทั้งนายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ทีมปฏิบัติการตำบล และ “ทีมพี่เลี้ยง” ต้องวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางการแก้ไข ตามหลัก 4 ท คือ ทัศนคติ ทักษะ ทรัพยากร และทางออก ด้วยการลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของครัวเรือนยากจนอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง

        

ทีมปฏิบัติการตำบล จึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจให้ทีมพี่เลี้ยงไปสำรวจให้รู้ปัญหา รู้แนวทางการทำงาน และวิเคราะห์ปัญหาทั้งหมดให้ออกมา ด้วยการนำข้อมูลบุคคล/ครัวเรือนเป้าหมายจากระบบ TPMAP ไปกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกับครัวเรือน พร้อมทั้งติดตาม ตรวจสอบ วิเคราะห์ ดูแลอย่างใกล้ชิด  และบันทึกในระบบ Logbook ทุกครั้งที่ได้ให้ความช่วยเหลือ ซึ่ง ศจพ.อำเภอ ต้องมีความเข้าใจ “เมนูแก้จน” ทั้ง 5 เมนู รวมถึงวิธีการแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า โดยนายอำเภอเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการบูรณาการ ทั้งนี้ หากพบสภาพปัญหานอกเหนือจากเมนู ให้ประสานหน่วยงานในพื้นที่ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ หากไม่สามารถแก้ไขในระดับอำเภอได้ให้รายงานมายังผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บูรณาการ เพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป”