ข่าวอัพเดทรายวัน

พ่อเมืองนครพนม ประสานไปรษณีย์ไทย และ Tops Market รับซื้อสับปะรดท่าอุเทน ช่วยเกษตรกรในพื้นที่

วันที่ 30 มีนาคม 2565 ที่อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สับปะรดท่าอุเทน เป็นสับปะรดขึ้นชื่อของจังหวัดนครพนม เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ (Geographical Indications หรือ GI) โดยเป็นสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียสายน้ำผึ้ง ที่พอเกษตรกรชาวสวนนำมาปลูกในพื้นที่แล้วกลายพันธุ์ ด้วยสภาพพื้นที่และภูมิอากาศที่เหมาะสมทำให้มีคุณลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะตัว คือ มีรสชาติหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้นและตาตื้นจึงเป็นที่ชื่นชอบของหลาย ๆ คน โดยปัจจุบันมีเกษตรกรประมาณ 1,320 ราย ในพื้นที่อำเภอท่าอุเทน และอำเภอโพนสวรรค์ปลูกเพื่อจำหน่าย พื้นที่รวมประมาณ 6,330 ไร่ ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของเจ้าหน้าที่คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในช่วงเดือนเมษายน – กรกฎาคม 2565 ประมาณไร่ละ 4.7 ตัน ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้คณะทำงานด้านการตลาดระดับจังหวัด (เซลล์แมนจังหวัดนครพนม) ประสานหาผู้รับซื้อผลผลิตล่วงหน้า เพื่อหาตลาดให้เกษตรกร เป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้นอกเหนือจากช่องทางจำหน่ายตามปกติ ทั้งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาล่วงหน้าที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมถึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าผลผลิตที่จะออกมามีตลาดรองรับอย่างแน่นอน ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาจังหวัดนครพนมและนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ว่า ตลาดนำการผลิต


จึงเป็นที่มาของวันนี้ที่ จังหวัดนครพนมได้จัดให้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างตัวแทนวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ผู้ปลูกสับปะรด GI ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน กับตัวแทนบริษัทไปรษณีย์ไทย โดยไปรษณีย์จังหวัดนครพนม ที่มีตลาดจำหน่ายสินค้าออนไลน์อย่าง www.thailandpostmart.com และบริษัทเซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด หรือ (Tops Market) ที่เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีศูนย์จำหน่ายและศูนย์กระจายสินค้าอยู่ตามที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะรับซื้อสับปะรดท่าอุเทน (พืช GI) ของเกษตรกรชาวสวนจังหวัดนครพนมไปจำหน่ายตลอดทั้งฤดูเก็บเกี่ยว ทั้งนี้ในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทางบริษัทจะมีการเข้ามาสอบถึงปริมาณผลผลิตและคุณภาพอีกครั้งว่าจะสามารถจัดส่งได้ในปริมาณมากน้อยขนาดไหน เพื่อดูจุดคุ้มทุนทั้งของบริษัทและของตัวเกษตรกรเอง สำหรับสเปคสินค้าเบื้องต้นกำหนดไว้คร่าว ๆ ประมาณ 1.2 – 1.7 กิโลกรัมต่อลูก ส่วนราคารับซื้อจะนำราคาตลาดเพื่อเป็นการพยุงราคาไม่ให้ราคาสินค้าตกต่ำ และมีการหักค่ากระจายสินค้า 3 % ต่อลูก เช่น สับปะรดราคาลูกละ 25 บาท เมื่อหักค่ากระจายสินค้าแล้วจะเหลือลูกละ 24.25 บาท สำหรับการรับ – ส่งสินค้า ทางบริษัทวางแผนไว้คือให้กลุ่มเกษตรกรนำสินค้ามารวมกันที่จุดเดียว จากนั้นจะส่งรถบรรทุกกระจายสินค้ามารับยังจุดที่ได้นัดหมายตามวันเวลาที่ได้มีการประสานล่วงหน้า คือวันพฤหัสบดีเพื่อนำไปจำหน่ายในวันศุกร์ และวันอาทิตย์เพื่อนำไปจำหน่ายในวันจันทร์