ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม เปิดตัว รถโมบายสโตรคฯพร้อมให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองฯ 4 อำเภอ

วันที่ 1 เมษายน 2565 จังหวัดนครพนม เปิดโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล และการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจรในประเทศไทย Mobile Stroke unit – Stroke One Stop (MSU-SOS) เพื่อใช้ปฏิบัติการแก่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม โดยนายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม มอบหมายนายพรต ภูภักดิ์ ปลัดจังหวัดนครพนม เป็นประธานตัดริบบิ้นเปิดโครงการฯ พระเทพวรมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 10 กล่าวให้พรและเจิมรถเพื่อความเป็นสิริมงคล ที่ลานหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม

นายพรต ภูภักดิ์ ปลัดจังหวัดนครพนม กล่าวว่า เป็นความโชคดีของชาวนครพนมที่ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราชเลือกโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม พื้นที่ดำเนินการในภาคอีสาน ทำให้ผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่เป้าหมาย 4 อำเภอ สามารถเข้าถึงบริการ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งขอชื่นชมผู้บริหารและคณะทำงานโครงการนี้เป็นอย่างมาก และขอขอบคุณรองศาสตราจารย์นายแพทย์ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พรชัย ชันยากร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมผู้พัฒนารถรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ (Mobile Stroke Unit, MSU) นายพิสิทธิ์ เจริญยิ่ง รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งในระดับจังหวัด อำเภอและท้องถิ่น ที่สนับสนุนโครงการนี้ให้สามารถดำเนินการตามแผนงาน และแนวทางการให้บริการผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแบบรถโมบายสโตรคยูนิต ร่วมกับระบบปรึกษาทางไกล และการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจรในประเทศไทย Mobile Stroke unit – Stroke One Stop (MSU-SOS) ให้ราบรื่นและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันแบบครบวงจร Mobile Stroke Unit-Stroke One Stop (MSU-SOS) ในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ และได้กำหนดให้จังหวัดนครพนมเป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการให้บริการโครงการรถโมบายสโตรคยูนิต ซึ่งมีระบบการให้บริการที่ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้อย่างรวดเร็ว และเกิดการวินิจฉัยที่มีความแม่นยำ เนื่องจากภายในรถมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เครื่องฉีดสารทึบแสงรังสีอัตโนมัติ ระบบปรึกษาทางไกลที่เชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ระบบส่งภาพทางการแพทย์ที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายร่วมตัดสินใจให้การรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างทันท่วงทีและประสานงานส่งต่อผู้ป่วย จากรถโมบายสโตรคยูนิตไปยัง รพ. ปลายทางได้อย่างปลอดภัยและมีมาตรฐาน

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ตรวจเลือด ณ จุดเกิดเหตุ เช่น เครื่องตรวจน้ำตาลในเลือด เครื่องตรวจค่าการแข็งตัวของเลือด และเครื่องตรวจการทำงานของไต เครื่องช่วยชีวิตขั้นสูง อุปกรณ์ช่วยหายใจและอุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ป่วย ที่สำคัญมีการเชื่อมต่อกับระบบปรึกษาทางไกลและการส่งต่อผู้ป่วยแบบครบวงจรสำหรับทุกคน โครงการนี้กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการบริการ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอธาตุพนม อำเภอเรณูนคร อำเภอนาแก และอำเภอวังยาง

นายแพทย์มนู ชัยวงศ์โรจน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม ได้มอบหมายให้แพทย์หญิงหทัยรัตน์ ณ นครพนม และคณะทำงาน ประกอบด้วยทีมงานอุบัติเหตุฉุกเฉิน กลุ่มงานรังสี และพนักงานขับรถยนต์ ไปร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการนี้ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นได้มีการเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมเสมือนจริงในวันที่ 7-31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อการบูรณาการสามารถเชื่อมโยงให้เกิดภาคีเครือข่ายในการร่วมกันปฏิบัติงานหลายภาคส่วน ทำให้สามารถลดขั้นตอน และลดระยะเวลา ทำให้ลดอัตราเสียชีวิตและความพิการลงได้เป็นประโยชน์ ต่อสังคม และประเทศชาติต่อไป