ข่าวอัพเดทรายวัน

ผู้ตรวจกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่นครพนม ติดตามแผนงานโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

วันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมพระธาตุนคร ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครพนม นางชลิดา พันธ์กระวี ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางไปตรวจติดตามการดำเนินการแผนงาน/โครงการที่ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 และปี 2565 ของหน่วยงานในการสนับสนุนและขับเคลื่อนมาตรการ ตามแผนงานและโครงการสำคัญ ( Flagship Project) โดยมีนายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ตลอดจนคณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับและบรรยายสรุป รวมถึงได้หารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามปัญหาและอุปสรรคจากตัวแทนภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ และการนำเข้า – ส่งออกสินค้าไปยัง สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ผ่านเส้นทางการขนส่ง R12 เพื่อเป็นข้อมูลผู้บริหารในการวางแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไปในอนาคต

โดยในปี 2564 (1 ตุลาคม 2563- 30 กันยายน 2564) จังหวัดนครพนมมีการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามแผนงานโครงการต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสิ้น 8,196.06 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 3,767.34 ล้านบาท และงบลงทุน 4,442.93 ล้านบาท ทั้งยังมีในส่วนของโครงการที่กันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีอีก จำนวน 1,721.63 ล้านบาท ซึ่งทุกโครงการสามารถดำเนินการได้ทันเวลาทั้งหมด ส่วนในปี 2565 (1 ตุลาคม 2564 – 25 มีนาคม 2565) มีการใช้จ่ายงบประมาณไปแล้ว 6,145.02 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำ 2,053.67 ล้านบาท และงบลงทุน 4,091.34 ล้านบาท ทั้งนี้ในส่วนของงบประมาณภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 จังหวัดนครพนม มีการใช้จ่ายงบประมาณภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จำนวน 344 โครงการเป็น 321.47 ล้านบาท ส่วนพ.ร.ก. กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาท ใช้จ่าย 14 โครงการ เป็นเงิน 284.36 ล้านบาท สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคของรัฐบาล ตามโครงการเพิ่มกำลังซื้อผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 จังหวัดนครพนมมียอดการใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 35.48 ล้านบาท โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษมียอดการใช้จ่าย 2.7 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 โครงการพบว่ามีการใช้สิทธิเมื่อคิดเปรียบเทียบกับผลการเพิ่มวงเงิน มีการใช้จ่ายวงเงินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ทั้งสิ้น 6,740 ร้านค้า มียอดใช้จ่าย รวม 354.30 ล้านบาท เป็นอันดับ 52 ของประเทศ ขณะที่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 4 มียอดการใช้จ่ายคูปองอาหาร 2.2 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้ติดตามในส่วนของการจัดเก็บภาษีและรายได้ รวมถึงแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีและรายได้ มาตรการช่วยเหลือประชาชนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ข้อมูลการบุกรุกที่ราชพัสดุ โครงการนำที่ราชพัสดุมาสนับสนุนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โครงการยกระดับการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่น “TRD SMART PAY” มาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้เช่าที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รวมถึงโครงการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางศุลกากร โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ และโครงการช่วยเหลือประชาชน เกษตรกร ผู้ประกอบการผ่านธนาคารต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โครงการประกันรายได้ให้เกษตรกร โครงการประกันภัยผลผลิตทางการเกษตร สินเชื่อหรือมาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วไป/เกษตรกรผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โครงการสินเชื่อสู้ภัยโควิด – 19 โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงิน มาตรการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศ มาตรการพักชำระหนี้ มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน