ข่าวอัพเดทรายวัน

หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ผลักดันและพัฒนาโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

หอการค้าจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย ผลักดันและพัฒนาโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นสู่มาตรฐานโคเนื้อสากล เพื่อรองรับการส่งออกโคเนื้อสู่ประเทศเพื่อบ้าน ตามโครงการ “โคขุนเมืองดอกคูน” ภายใต้โครงการ ไดโน่โมเดล

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 8 เมษายน 2565 ที่ห้องประชุมคุวานันท์ อาคารหอการค้าจังหวัดขอนแก่น นายปรีชา พันธ์นิกุล รองประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยหน่วยงานภาคีเครือข่าย ร่วมกันประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เสนอแนะ และกำหนดแผนการดำเนินการในการส่งเสริมเศรษฐกิจเกษตรปศุสัตว์ โคเนื้อขอนแก่น ก่อนจะมีการทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการ “โคขุนเมืองดอกคูณ” ภายใต้โครงการ “ไดโน่โมเดล” ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชเศรษฐกิจของจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะการเลี้ยงโคเนื้อ ได้มีการนำโมเดลธุรกิจเกษตรเชิงอุตสาหกรรมของ SWPGROUP หรือ สุวพัชร์ฟาร์ม ตั้งอยู่ที่ตำบลสระแก้ว อำเภอเปือยน้อย จังหวัดขอนแก่น มาเป็นโมเดลในการสร้างแหล่งผลิตโคเนื้อชั้นดี ที่ส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ โดยจะใช้แม่พันธุ์ของเกษตรกรร่วมกับแม่พันธุ์ของทางฟาร์มที่ผลิตมาจากพ่อพันธุ์อย่างดี ภายใต้แนวคิด “เลี้ยงวัวยุคใหม่ ไม่ใช่ทางเลือกแต่คือทางรอด”
นายปรีชา พันธ์นิกุล รองประธานอาวุโสหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จากที่ประเทศจีนให้โควต้านำเข้าโคมีชีวิตจาก สปป.ลาว 500,000 ตัวต่อปี และ สปป.ลาว ก็มีนำเข้าจากประเทศไทย ประมาณ 60% จึงถือเป็นโอกาสดีของอุตสาหกรรมเนื้อโคไทยในอาเซียน โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นแหล่งที่มีองค์ความรู้ในเรื่องของการส่งออกและความรู้เรื่องการเลี้ยงดูโค ถือเป็นสร้างการเกษตรให้มีมูลค่าสูง โดยการพัฒนาภาคการเกษตรให้เป็น Smart Farmer หอการค้าจังหวัดขอนแก่น พร้อมที่จะร่วมมือกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในการผลักดันเศรษฐกิจด้านการเกษตร ด้านปศุสัตว์ โคเนื้อ ซึ่งมีศักยภาพในด้านธุรกิจสูง ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ ยา และสายพันธุ์ ไปกลางน้ำ คือ การเลี้ยงแม่โค ลูกโค และนำเข้าโรงขุนให้ได้คุณภาพ จนถึงปลายน้ำ คือ ความต้องการของผู้ซื้อ ทั้งผู้บริโภค ร้านอาหาร ภัตตาคาร ผู้ค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งล้วนต้องการสินค้า อาหาร ที่มีคุณภาพดี และยังมีโอกาสถึงตลาดต่างประเทศ เช่น ลาว เวียดนาม และ จีน ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่รองรับการผลิตได้ทั้งหมด แต่สิ่งสำคัญ ที่จะทำให้สำเร็จ คือ ความรู้ นวัตกรรม ในการเพาะเลี้ยงและดูแล ซึ่งภาครัฐและภาควิชาการ จะต้องมีความพร้อมสูง ทั้งการหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน โดยเฉพาะช่วงที่เลี้ยง ซึ่งเกษตรกรจะยังไม่มีรายได้ การหาตลาดรองรับไว้ล่วงหน้า ซึ่งหากทำงานประสานความร่วมมือกัน ก็จะประกันความสำเร็จ”


ด้านนายเชิดศักดิ์ พิสวาด ผู้ประกอบการฟาร์มโคเนื้อ สุวพัชร์ ฟาร์ม อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตนเองได้พยายามทุ่มเทในการพัฒนาเนื้อในช่วงต้นน้ำ นั้นคือ การพัฒนาพ่อแม่พันธุ์ เพราะเราเห็นว่าการเลี้ยงโคเนื้อในช่วงต้นน้ำยังมีช่องว่างและโอกาส อีกทั้งหลายๆ คน ยังมองว่าการเลี้ยงโคเนื้อในช่วงต้นน้ำค่อนข้างใช้เวลานาน ไม่คุ้มค่าต่อการรอคอย แต่เรามองสวนทางกับคนอื่น คือ ยิ่งไม่มีคนทำ พอเรามาทำมันก็กลายเป็นโอกาส หากทำสำเร็จที่นี่ก็จะกลายเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อในช่วงต้นน้ำที่ดีที่สุดและมีคุณภาพที่สุด และกลายเป็นพื้นฐานให้กับคนอื่น ๆ ที่ไปเลี้ยงกลางน้ำหรือปลายน้ำได้ เพราะทุกวันนี้ตลาดโคเนื้อยังเต็มไปด้วยโอกาส แต่ยังมีปัจจัยและอุปสรรคค่อนข้างมาก เช่น เราจะทำอย่างไรให้เนื้อโคมีคุณภาพที่นิ่ง มีปริมาณที่เพียงพอ และสร้างเอกลักษณ์ที่แตกต่าง สามารถสร้างมูลค่าจากการเลี้ยงวัวให้มีความแตกต่างขึ้นมาให้ได้ ถ้าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงของการเลี้ยงวัวให้ตอบโจทย์ตลาดโคเนื้อในบ้านเราได้ เชื่อว่าบ้านเราจะหนีไม่ไกลคำว่าอุตสาหกรรมโคเนื้อได้อย่างแน่นอน ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องมีการพัฒนาและส่งเสริมให้ถูกทาง เพราะการเลี้ยงวัวเนื้อสามารถเป็นอาชีพที่มั่นคงและสร้างรายได้ได้ เนื่องจากการเลี้ยงโคเนื้อนั้นมีตลาดรองรับที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าเราจะต้องเลี้ยงวัวที่มีคุณภาพที่ดีพอ และเพียงพอสำหรับความต้องการของตลาด โดยเป้าหมายของฟาร์มฯ คือ อยากเป็นแหล่งผลิตโคเนื้อที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค และเป็นความหวังให้กับเกษตรกร อย่างน้อยก็ได้เป็นแหล่งผลิตโคเนื้อหรืออุตสาหกรรมโคเนื้อให้กับภาคอีสาน เพราะเราอยากจะส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


“เพื่อเป็นการผลักดันและพัฒนาโคเนื้อในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น สู่การเป็นอุตสาหกรรมโคเนื้อที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ หอการค้าจังหวัดขอนแก่นและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้มีกำหนดแผนในการพัฒนาในระยะสั้น ได้แก่ การจัดอบรมให้กับเกษตรกรผู้สนใจการเลี้ยงโคเนื้อ ให้เข้าใจและรับรู้ถึงความร่วมมือ การสนับสนุน และเตรียมความพร้อมสู่การผลิต การจัดสัมมนาด้านเศรษฐกิจและการตลาด ของโคเนื้อ เพื่อให้เห็นยุทธศาสตร์ชัดเจน และได้รับความร่วมมือในวงกว้าง การจัดงาน ชิมเนื้อโคไทย ให้คนได้รับรู้ถึงคุณภาพ และ ได้สัมผัสด้วยตนเอง โดยจัดงานเทศกาลอาหารร่วมกับร้านอาหารในขอนแก่น การรวบรวมแหล่งผลิตและจำหน่าย เป็นทำเนียบ เผยแพร่ และมอบประกาศนีบัตรรับรองมาตรฐาน ให้เป็นที่ยอมรับทั่วกัน และจัดกิจกรรมหาคู่ค้ากับตลาดต่างประเทศ เบื้องต้น คือ เวียงจันทน์ หนานหนิง ฟูเจี้ยน ที่จังหวัดขอนแก่นมีพันธะเมืองคู่ไว้”