ข่าวอัพเดทรายวัน

ททท.สำนักงานขอนแก่นชวนเที่ยวประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่วั

ททท.สำนักงานขอนแก่นชวนเที่ยวประเพณีสงกรานต์แบบดั้งเดิมที่วัดไชยศรี ต.สาวะถี เมืองขอนแก่น เน้นประเพณีสงกรานต์วิถีเก่า เสียเคราะห์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายรับสิ่งดี ๆ ในชีวิต พร้อมอบรมมัคคุเทศก์น้อยของชุมชนเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2565 ที่วัดไชยศรี ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น น.ส.ธนวัน กาสี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานขอนแก่น ได้เป็นประธานในการมอบเกียรติบัตรให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวะถี (สาวัตถีราษฎร์รังสฤษฏิ์) และโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์จำนวน 20 คน หลังได้เข้ารับการอบรมเรื่องการเป็นเจ้าบ้านที่ดีเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนในงานเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้ โดยวัดไชยศรี เป็นสถานที่จัดงานเทศกาลสงกรานต์แบบวิถีดั้งเดิมของจังหวัดและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดขึ้น โดยยังรักษามาตรการเข้มงวดในการจัดงานเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ด้วย


น.ส.ธนวัน กาสี ผู้อำนวยการสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยสำนักงานขอนแก่น กล่าวว่า ในระหว่างวันที่ 13-15 เมษายนนี้อยากเชิญชวนให้คนอีสานหรือผู้สนใจมาร่วมงานสงกรานต์ที่วัดไชยศรี ซึ่งททท.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาชน จัดงานสงกรานต์แบบวิถีเดิมแท้ โดยจะมีพิธีเสียเคราะห์ ซึ่งจะจัดในวันที่ 13 เมษายน โดยทาง ททท.ได้เตรียมการต้อนรับนักท่องเที่ยวเข้าร่วมพิธีเสียเคราะห์พร้อมทั้งมอบของที่ระลึกให้กับผู้ร่วมงานในครั้งนี้ด้วย
สำหรับพิธีเสียเคราะห์นั้น พ่อครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี เจ้าคณะตำบลสาวะถี กล่าวว่า ทุกวันที่ 13 เมษายนของทุกปี ที่ถือเป็นวันเริ่มต้นประเพณีสงกรานต์ของชาวบ้านได้เกิดพิธีกรรมที่สืบทอดกันมานับร้อยปีคือพิธีเสียเคราะห์หรือสะเดาะเคราะห์ตามแบบโบราณอีสาน โดยชุมชนและวัดได้ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณมีความเชื่อว่าเป็นพิธีกรรมที่จะช่วยปัดเป่าสิ่งไม่ดีเพิ่มความเป็นสิริมงคลเสริมดวงชะตาให้เข้าสู่ปีใหม่อย่างสดใสและไม่มีอุปสรรค


โดยผู้ที่ได้ร่วมในพิธีสะเดาะเคราะห์หรือทางอีสานเรียกว่าเสียเคราะห์จะประสบแต่สิ่งที่ดีในชีวิต ส่วนความหมายในพิธีกรรมของชุมชนสาวะถีคำว่าเสียเคราะห์หมายถึงการทำให้เคราะห์ที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ไม่เป็นมงคลในชีวิตหมดสิ้นไป เครื่องสังเวยหรือเครื่องเสียเคราะห์ ได้มีการจัดเครื่องสักการะเพื่อบูชาพระเคราะห์ให้หายเคราะห์ สิ่งแรกที่ขาดไม่ได้คือเทียนตามแบบโบราณกำหนดและสิ่งของอื่น ๆ เช่นข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอกดอกไม้ น้ำส้มป่อย ทุงช่อธงชัย ป้ายแดง ป้ายดำ ป้ายขาว ป้ายเหลืองด้ายสายสิญจน์รอบโถงเป็นต้น โดยสิ่งของทั้งหมดนี้จะนำใส่ลงในธง 4 แจ ขนาดกว้างยาวประมาณ 1 ศอกทำจากกาบกล้วยที่ แล้วกั้นออกเป็น 9 ห้องด้วยกาบกล้วยเช่นกัน และในวันเดียวกัน ได้มีการเชิญนางงามไหมและรองนางงาม มาร่วมถ่ายภาพประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวเทศกาลสงกรานต์แบบวิถีดั้งเดิมอีกด้วย ซึ่งในวันที่ 13 เมษายน ตั้งแต่เวลา 13.00 น.เป็นต้นไปที่วัดไชยศรีจะมีพิธีเปิดงานเทศกาลสงกรานต์โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และมีตลาดชุมชนที่นำสิ่งของที่เป็นผลผลิตของชุมชนมาจำหน่ายด้วย