ข่าวอัพเดทรายวัน

เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบขาวอ้อย แนะหมั่นสำรวจแปลงพบแจ้งเจ้าหน้าที่

ปลูกอ้อยระวังใบขาวอ้อย !! เกษตรกรจังหวัดนครพนม เตือนเกษตรกรเฝ้าระวังโรคใบขาวอ้อย แนะหมั่นสำรวจแปลงพบแจ้งเจ้าหน้าที่

วันที่ 25 เม.ย.65 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า สภาพอากาศเข้าสู่ภาวะร้อนชื้น เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไฟโตพลาสมา สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ประกาศเตือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบขาว หรือที่เรียกกันว่า โรคเอดส์ในอ้อย อาการเริ่มแรกจะพบใบมีสีขาวตามแนวยาวของเส้นกลางใบจากนั้นใบจะลายเป็นเส้นสีขาวหรือสีเหลืองสลับสีเขียวขนานไปตามเส้นกลางใบ จนกระทั่งแสดงอาการใบขาวทั่วทั้งใบ ลำต้นแคระแกร็น ต้นไม่เจริญเติบโตเป็นลำที่สมบูรณ์ หากพบอาการรุนแรง จะทำให้ใบขาวทั้งกอ และต้นอ้อยแห้งตายในที่สุด บางพื้นที่การปลูกอ้อยพบการระบาดของโรคใบขาวอ้อยระบาด ส่งผลให้ผลผลิตอ้อยของพี่น้องเกษตรกรลดลง สำหรับในพื้นที่จังหวัดนครพนม แม้ในขณะนี้จะยังไม่พบการรายงานว่าพบการระบาด แต่ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนมได้แจ้งเตือนไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอในพื้นที่ให้ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกอ้อยได้รับทราบ และเตรียมการในการเฝ้าระวังป้องกัน สาเหตุที่สำคัญของโรคใบขาวอ้อยเกิดจากเชื้อไฟโตพลาสมา ลักษณะอาการใบขาวนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับอ้อยทุกระยะการเจริญเติบโต อ้อยที่เป็นโรคจะแสดงอาการผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มงอกไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยว โดยอาการจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในระยะกล้าอ้อยจะแตกกอฝอยมีหน่อเล็กๆ ที่มีใบสีขาวจำนวนมาก คล้ายกอหญ้า หน่อไม่เจริญเป็นลำ หากอาการโรครุนแรงอ้อยจะแห้งตายทั้งกอในที่สุด หากหน่ออ้อยในกอเจริญเป็นลำได้ ลำอ้อยที่ได้จะไม่สมบูรณ์ อาจมีใบขาวที่ปลายยอด หรือมีหน่อขาวเล็กๆ งอกจากตาข้างของลำ บางครั้งอาการของโรคจะมีลักษณะแฝง พบเสมอในอ้อยที่ปลูกปีแรก ซึ่งอ้อยที่เป็นโรคจะเจริญเติบโตเป็นลำ มีใบสีเขียวคล้ายอ้อยปกติ มีเพียงหน่อขาวเล็กๆ ที่โคนกอ แต่อาการโรคจะปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนในอ้อยตอในระยะเวลาต่อมา ซึ่งเมื่อนำอ้อยที่มีอาการแฝงคล้ายอ้อยปกติดังกล่าวไปปลูกต่อก็จะทำให้โรคระบาดต่อไปอย่างกว้างขวาง แปลงอ้อยที่ปลูกในช่วงหน้าฝนจะพบอาการโรคระบาดรุนแรง

สำหรับวิธีการป้องกันกำจัดโรคใบขาวอ้อย หากเกิดการแพร่ระบาด ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม แนะนำให้ทำลายด้วยการขุดทิ้ง และกรณีที่พบการระบาดมากให้ไถทิ้งทั้งแปลง แล้วปลูกพืชตระกูลถั่วหมุนเวียนก่อนปลูกอ้อยรอบใหม่ เพื่อตัดวงจรของโรคและแมลงพาหะ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีอ้อยพันธุ์ต้านทาน การขุดทำลายกออ้อยที่เป็นโรคออกจากแปลงแล้วนำไปเผาทำลายทิ้ง หรืออาจใช้สารกำจัดวัชพืชพ่นต้นที่เป็นโรค การกำจัดวัชพืชรอบๆ แปลงไปพร้อมกับการทำลายกอเป็นโรค เพื่อทำลายแหล่งอาศัยของแมลงพาหะนำโรค การให้ความร่วมมือกันกำจัดโรคใบขาวอย่างต่อเนื่องตลอดฤดูการผลิตและตลอดไปจนกว่าโรคใบขาวจะหมดไป ซึ่งเกษตรกรสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้บริการและคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดอย่างถูกต้อง ทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดของโรคใบขาวอ้อยได้