ข่าวอัพเดทรายวัน

นักการวัย 59 ใช้ช่วงเวลาปิดเรียนโควิดปิ๊งไอเดียนำเศษเหล็กประกอบรถไถ 3 คัน

พบนักการโรงเรียนขยายโอกาส ตำบลปอแดง อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ใช้เวลาว่างปิดเรียนในช่วงสถานการณ์โควิด-19 นำชิ้นส่วนเครื่องยนต์ รถไถนาเดินตาม เศษเหล็ก มาประกอบเป็นรถไถนาทูอินวัน ทั้งไถและตัดหญ้า รวมทั้งรถเกี่ยวข้าวได้สำเร็จ เผยเป็นการใช้ภูมิปัญญาและศึกษาจากยูทูป ต้นทุนต่ำ ทำงานได้อย่างประสิทธิภาพ ลงทุน 15,000 บาท คุณภาพใช้งานเทียบเท่ารถไถมือสอง คันละ 150,000 บาท

ผู้สื่อข่าว ได้รับแจ้ง พบนักการโรงเรียนบ้านปอแดง ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น นำเศษเหล็ก เครื่องยนต์เก่า ของรถไถนาเดินตาม มาประกอบเป็นรถไถ รถเกี่ยวข้าว รถตัดหญ้า ใช้งานเอง ทั้งนี้ ไม่เคยเรียนวิชาชีพช่างยนต์มาก่อน แต่เป็นการใช้ภูมิปัญญา ศึกษาวิธีการทำจากยูทูปเท่านั้น ซึ่งผลงาน “ทำมือ” สามารถขับเคลื่อนและใช้งานได้ ผู้สื่อข่าวจึงได้ลงพื้นที่

โดยไปที่บ้านเลขที่ 233 หมู่ 1 บ้านปอแดง ต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น พบนายจอมพล ประชากูล อายุ 59 ปี เจ้าของบ้าน กำลังประกอบอุปกรณ์รถตัดหญ้าอยู่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นการประกอบอุปกรณ์แบบลองผิดลองถูก ไม่มีการเขียนแบบล่วงหน้า อาศัยหลักการคาดคะเน และรูปร่างลักษณะของเศษเหล็กและอุปกรณ์แต่ละชิ้น ที่นำมาเชื่อมหรือยึดด้วยตัวน็อตเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ นายจอมพลบอกว่าการประกอบรถตัดหญ้าในส่วนของเครื่องยนต์กลไก การขับเคลื่อนสำเร็จเรียบร้อย จะเหลือก็เพียงในส่วนของสายพาน และระบบควบคุมใบตัด ซึ่งจะทำในระบบใบตัดคู่ เพื่อความแปลกใหม่และทำงานได้รวดเร็วขึ้น

นายจอมพลกล่าวว่า ปัจจุบันตนรับราชการเป็นนักการ ที่โรงเรียนบ้านปอแดง ซึ่งเป็นโรงเรียนขยายโอกาสประจำหมู่บ้าน มีความชำนาญด้านงานช่างไม้ ทั้งก่อสร้างบ้าน เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งการจัดสวน ซึ่งสืบทอดความรู้ประสบการณ์จากพ่อและพี่ชาย 2 คน ที่ยึดอาชีพทางด้านการก่อสร้างบ้าน ส่วนงานที่ทำจากเครื่องยนต์กลไก โดยการนำเครื่องยนต์เก่าและเศษเหล็ก มาประกอบเป็นรถไถนั้น เพิ่งเกิดไอเดียช่วงเกิดสถานการณ์โควิด-19 เมื่อปี 2563

นายจอมพลกล่าวอีกว่า แรงบันดาลใจเริ่มแรกเกิดจากกระแสรถไถนาเดินตาม เริ่มลดความนิยมไป โดยชาวนาส่วนใหญ่หันไปใช้รถไถหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารถส้ม โดยสถาบันการเงิน เช่น ธกส.ให้สินเชื่อ ซึ่งชาวไร่ ชาวนา ให้ความนิยม ทั้งเช่าซื้อและจ้างรถส้มกันจำนวนมาก ผลต่อเนื่องที่ตามมาคือค่าจ้างรถไถนาที่เพิ่มขึ้นทุกปี ตามภาวะราคาน้ำมันแพง เฉลี่ยคิดค่าจ้างไร่ละ 400-600 บาท ขณะที่ตนเริ่มมองหาวิธีการลดทุนทำนา จึงนำรถไถนาเดินตาม ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว มาประยุกต์เป็นรถไถนาได้สำเร็จ จากนั้นมาประกอบเป็นรถเกี่ยวข้าว และที่กำลังประกอบอยู่คือรถไถและติดตั้งอุปกรณ์ตัดหญ้า ซึ่งใช้งานได้ทั้งเป็นรถไถพรวนดินและรถตัดหญ้าในคันเดียวกัน อย่างที่เรียกว่ารถไถทูอินวัน

“วิธีการทำก็อาศัยครูพักลักจำ ลองผิดลองถูก ดูจากยูทูปบ้าง นำอุปกรณ์ ชิ้นส่วน มาปะติดปะต่อกัน ทุกระบบไม่ใช้ไฮโดรลิค เพราะจะเป็นการเพิ่มทุน จะซื้อส่วนที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ล้อ ลูกปืน โครงสร้างและอุปกรณ์เสริมต่างๆ ใช้ของเก่ามาประกอบเข้าด้วยกัน อาศัยหลักการคาดคะเน ฝึกทักษะประสบการณ์ไป อย่างรถไถคันที่ประกอบเสร็จ ลงทุนประมาณ 15,000 บาท แต่หากนำอุปกรณ์หรือติดตั้งระบบไฮโดรลิคประมาณ 50,000-60,000 บาท ขณะที่คุณภาพเทียบเท่ารถไถส้มมือสองราคา 130,000-150,000 บาท เคยทดลองในงานมาแล้ว ถึงแม้เครื่องยนต์ ระบบเกียร์หน้า ถอยหลัง จะช้าไปบ้าง ก็ยังทำเวลาได้รวดเร็วกว่ารถไถเดินตาม และดีกว่าที่จะไปซื้อรถไถส้มมือสองคันละหลายแสนหรือรถไถส้มใหม่คันละล้านบาท โดยเฉพาะรถไถจากเศษเหล็กที่ประกอบขึ้นมาทั้ง 3 คัน สามารถใช้งานในไร่นาตัวเอง โดยไม่ต้องไปจ้างรถไถคนอื่น” นายจอมพลกล่าว

นายจอมพลกล่าวเพิ่มเติมว่า รถไถจากเศษเหล็กที่ประกอบขึ้นมาเป็นรถไถนา รถเกี่ยวข้าวและรถตัดหญ้า 3 คันนี้ หากมีคนสนใจอยากซื้อไปใช้งาน ก็สามารถมาพูดคุยราคากันได้ ในราคาที่เป็นธรรม เพราะเห็นใจพี่น้องชาวนาที่แบกรับภาระค่าใช้จ่ายสูง ทั้งค่ารถไถ ค่าปุ๋ยเคมี ขณะที่ผลผลิตได้ไม่คุ้มทุน และราคาผลผลิตตกต่ำ แต่ใจจริงรถทั้ง 3 คัน ตนอยากเก็บไว้ใช้งานเอง และจะพัฒนาระบบการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น