ข่าวอัพเดทรายวัน

เอกชนอุดรฯไม่รอคำตอบ“บิ๊กตู่”ขอชะลอยกสนามบินให้ ทอท.

กกร.อุดรธานี ไม่รอคำตอบ “นายกตู่” ร้องขอชะลอให้ ทอท.มาบริหารสนามบิน เดินทางศึกษาดูงานเริ่มที่อุดร พบเป็นสนามบินนานาชาติตั้งแต่ปี 2475 มีมาตรฐานสูงเกินเกณฑ์ ด้วยเครื่องมือทันสมัย แอร์บัส 380 บินขึ้น-ลงได้สบาย ก่อนเดินสายสนามบิน ทย.และ ทอท.ทั่วประเทศ ค้นหาจุดอ่อนจุดแข็ง

ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี มาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2565 ว่า นายกำแหง สาวิภู ผอ.ท่าอากาศยานนานาอุดรธานี ให้การต้อนรับ พ.ท.วรายุต์ ตรีวัฒนุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี และประธานคณะกรรมการภาคเอกชน (กกร.)อุดรธานี พร้อมคณะ กกร. , คณะที่ปรึกษา , ชมรมธนาคาร , ผู้แทนสมาคมพ่อค้าจีน , สมาคมชาวเวียดนาม , สมาคมธุรกิจท่องเที่ยว , ภาคประชาสังคม และมหาวิทยาลัยนราชภัฎอุดรธานี เพื่อศึกษาดูงานท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานี ด้วยการร่วมประชุมรับฟังคำชี้แจง สอบถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และดูพื้นที่ส่วนต่างๆของสนามบิน

พ.ท.วรายุต์ ตรีวัฒนุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี กล่าวว่า เราดูการเติบโตสนามบินอุดรฯ จนมีผู้โดยสารสูงเป็นอันดับต้นๆ มีการแผนจะสร้างอาคารหลังที่ 3 มาตั้งแต่ปี 2561 แต่ในช่วงที่ผ่านมา 2-3 ปี มีข่าวการถ่ายโอนสนามบิน จากกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ไปให้ บ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) จก.(มหาชน) ขณะที่แผนการสร้างอาคารหลังที่ 3 ก็เงียบหายไป และการถ่ายโอนก็ยังไม่เกิดขึ้น เราจึงขอมาศึกษาดูงานที่นี่ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

นายกำแหง สาวิภู ผอ.ท่าอากาศยานนานาอุดรธานี กล่าวว่า สนามบินอุดรฯเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2466 ย้ายมามาอยู่ที่กองบิน 23 ปี 2475 ก่อนถูกยกเป็นสนามบินศุลกากร (สนามบินนานาชาติ) ปี 2497 และสร้างรันเวย์เป็นคอนกรีต ยาว 3,048 ม. และกว้าง 38 ม.ปี 2500 ต่อมาได้ขยายทางวิ่งเป็น 45 ม. สร้างทางขับกว้าง 23 ม. จนในปี 2546-2548 ก่อสร้างอาคารหลังใหม่ บนที่ดินเวนคืนและจัดซื้อ มีศักยภาพรองรับเครื่องบินโบอิ้ง 747 และแอร์บัส 380 ได้

“ ปัจจุบันขณะนี้มีอาคาร 2 หลัง รองรับผู้โดยสารปีละ 3.4 ล้านคน ช่วงปี 2560-62 มีผู้โดยสารปีละ 2.6 ล้านคน จึงมีแผนการสร้างอาคารหลังที่ 3 มีองค์ประกอบหลายอย่างจึงยังไม่สร้าง โดยมีแผนศึกษาออกแบบปี 2567 และก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ปี 2571 รองรับผู้โดยสารได้ปีละ 7.5 ล้านคน สนามบินอุดรธานีพัฒนาต่อเนื่อง ได้รับการรับรองมาตรฐาน และยกระดับด้วยเทคโนโลยี ลดการหลุดลอดของสายตามนุษย์ ”

นายกำแหง สาวิภู ผอ.ท่าอากาศยานนานาอุดรธานี ตอบคำถามด้วยว่า สนามบินอุดรธานีรองรับเที่ยวบิน ที่เดินทางมาจากต่างประเทศได้ ที่ผ่านมามีเที่ยงบินแบบเช่าเหมาลำ เดินทางมาที่นี่อย่างต่อเนื่อง โดยก่อนสถานการณ์โควิด มีเส้นทางการบินอุดธานี-เวียดนาม แต่ก็ต้องเลื่อนออกไป กำลังมีการพูดคุยกลับมาบินอีกครั้ง ซึ่งเส้นทางบินใหม่เราให้ส่วนลด 80 % 1 ปี , ปีที่ 2 ลด 50 % , ปีที่ 3 ลด 30 % รวมทั้งการใช้ระบบ ICQ ในการโหลดกระเป๋า สำหรับผู้โดยสารที่จะไปต่อเครื่อง จัดการครั้งเดียวที่ต้นทาง ปัจจุบันมี 2 สายการบินที่ใช้บริการ คือ แอร์เอเชีย กับเวียตเจท

พ.ท.วรายุต์ ตรีวัฒนุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี เปิดเผยว่า มีข่าวการโอนสนามบินอุดรฯให้ ทอท. 2-3 ปีมาแล้ว จนปัจจุบันเรายังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตกลง ทย.จะบริหารต่อ หรือ ทอท.จะเข้ามารับโอนไป เราคิดว่าน่ามาศึกษาดูงาน การบริหารสนามบินว่าบริหารอย่างไร เราก็ขอเข้ามาศึกษาดูงาน อนาคตเราก็อยากไปศึกษาดูงาน สนามบินของ ทย. และ ทอท.เพิ่มอีก เพื่อที่จะดูข้อดีข้อเสีย ข้อที่จะได้ประโยชน์ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคต เพราะอุดรธานีก็มีศักยภาพในการเติบโต สนามบินก็คือจุดที่จะเข้าถึงเมือง

“ วันนี้เราได้รู้ว่าการบริหารสนามบินอุดรธานี มีมาตรฐานระดับความปลอดภัย ซึ่งที่สนามบินอุดรธานีทำอยู่สูงกว่ามาตรฐาน ได้เห็นเครื่อง LEDS ที่ใช้ตรวจสัมภาระที่ติดตัวผู้โดยสารด้วย AI จำนวน 1 เครื่อง (ประเทศไทยมีใช้ที่กระบี่-นครราชสีมา-อุดรธานี) และเครื่อง EDS เครื่องตรวจสัมภาระใต้ท้องเครื่องด้วย AI จำนวน 2 เครื่อง เราได้เห็นเบื้องหลังการบริหาร สำหรับการดูแลความปลอดภัย จะต้องทำก่อนการขึ้นเครื่อง สนามบินอุดรธานีการรักษาความปลอดภัยสูงมาก ”

ประธานสภาอุตสาหกรรมอุดรธานี ตอบข้อซักถามว่า ภาคเอกชนอุดรธานีได้ยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการโอนถ่ายการบริหารไปก่อน ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะติดตามเรื่องอย่างไร ภาคเอกชนจึงได้ทำโครงการร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อศึกษารูปแบบการบริหารสนามบิน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้เห็นว่าสนามิน สามารถบริหารทำได้กี่รูปแบบ การมีส่วนร่วมพัฒนาเส้นทางการบิน นำสายการบินจากต่างประเทศ บินมาอุดรธานีจะทำได้อย่างไร องค์ประกอบเหล่านั้นน่าจะมีหลายฝ่าย ไม่ใช่เพียงสนามบิน หรือคนบริหารสนามบินอย่างเดียว

“ วันนี้เราพบว่าการบริหารสนามบิน จะต้องให้เกิดความปลอดภัย ส่วนสายการบินจะต้องมี 2 ขา (ไป-กลับ) หากบิน 2 ขาแล้วขาดทุน ก็คงจะไม่มีใครมาบิน คำถามของคนอุดรธานีคือ เขาจะมาอุดรธานีเพื่อท่องเที่ยว หรือมาเพื่ออะไร ในขณะที่กระบี่-สุราษฎรธานี-ภูเก็ต-เชียงใหม่ ที่นั่นมีทะเล-หาดทราย-ภูเขา-วัฒนธรรม และมีอะไรที่น่าสนใจเชิงการท่องเที่ยว จะให้คนเดินทางจากต่างประเทศมา ชาวอุดรธานีก็ต้องช่วยทำการบ้าน ”