ข่าวอัพเดทรายวัน

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จัดประกวดพูดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น โครงการ ‘รู้ รัก ภาษาไทย’ ประจำปี 2565


เมื่อเวลา 08.30 น.วันที่ 7 พ.ค.65 ที่ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จังหวัดขอนแก่น สํานักงานราชบัณฑิตยสภาจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่น โครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” สำหรับเยาวชนซึ่งเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1 – 3) จากโรงเรียนต่างๆในภาคอีสานโดยมี รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา และคณะกรรมการ แขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมกิจกรรมและตัดสินผู้ชนะในรอบภาคอีสาน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ รองเลขาธิการและรักษาการเลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงการจัดการประกวดเล่าเรื่องหัวข้อ ท้องถิ่น ที่มา ภาษา วัฒนธรรม ด้วยภาษาไทยมาตรฐานและภาษาไทยถิ่นในโครงการ “รู้ รัก ภาษาไทย” ว่า ตามพระราชบัญญัติราชบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2558 สำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ข้อหนึ่งคือมีหน้าที่ ศึกษา อบรมและพัฒนา “ภาษาไทย” ภาษาถิ่น การอนุรักษ์ภาษาไทยไม่ให้แปรเปลี่ยนไปในทางที่เสื่อม เป็นการส่งเสริมภาษาไทยให้ปรากฏเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยมุ่งเป้าไปที่เด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ในระดับฐานรากและบุคลากรทางการศึกษา

โดยให้นักเรียนเล่าเรื่องด้วยภาษาถิ่นที่แสดงถึงวิถีชีวิต ประเพณี การละเล่น ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สถานที่ หรือบุคคลสำคัญในท้องถิ่นของตน (โรงเรียนที่อยู่ในภาคใต้ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคใต้, โรงเรียนที่อยู่ในภาคเหนือ เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคเหนือ, โรงเรียนที่อยู่ในภาคอีสาน เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยถิ่นภาคอีสาน และโรงเรียนที่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก เล่าเรื่องด้วยภาษาไทยมาตรฐาน) ซึ่งคณะกรรมการจะพิจารณาจากความสามารถในการใช้ภาษาถิ่น มีเนื้อหาที่ผู้ฟังประทับใจ และมีลีลาในการเล่าเรื่องได้อย่างเป็นธรรมชาติสมวัย

การประกวดแบ่งเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก สำนักงานราชบัณฑิตยสภาจะคัดเลือกผู้ผ่านรอบแรก จากวีดิทัศน์ของแต่ละภาคให้เหลือภาคละ 10 คน ผู้ผ่านรอบแรกพร้อมโรงเรียนจะได้รับเกียรติบัตร จากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา และรอบสุดท้าย ผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกในแต่ละภาคต้องเล่าเรื่องตามประเด็นเดิมในรอบแรก ต่อหน้าคณะกรรมการคัดเลือกของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2565 ซึ่งผลการตัดสินของคณะกรรมการ รางวัลชนะเลิศ ของภาคอีสานได้แก่ เด็กชายสุเมธ มุงธิราช โรงเรียนคำเตยวิทยา จังหวัดยโสธร รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ เด็กชายพายุพัฒน์ โคตรหลักคำ โรงเรียนน้ำพองพัฒนศึกษารัชมังคลาภิเษก จังหวัดขอนแก่น รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เด็กหญิงกัญญรัตน์ บุญสุข โรงเรียนเทศบาล 1 (วัดเจียงอี) จังหวัดศรีสะเกษ


รางวัลชมเชย ได้แก่ 1.นางสาวจุมพิตา บุญประกอบ โรงเรียนบริบาลภูมิเขตต์ จังหวัดอุดรธานี, 2.นางสาวชนาภา ชมกิ่ง โรงเรียนสะแกราชวิทยาคม จังหวัดนครราชสีมา, 3.เด็กหญิงธันยพร พันแสง โรงเรียนพังเคนพิทยา จังหวัดอุบลราชธานี, 4.เด็กหญิงปฏิมากรณ์ หาญอาสา โรงเรียนเมยวดีพิทยาคม จังหวัดร้อยเอ็ด, 5.เด็กหญิงสุชาดา โพธิ์งาม โรงเรียนบ้านลอมคอม จังหวัดขอนแก่น, 6.เด็กหญิงสุมินตรา พานโคตร โรงเรียนบึงไทรพิทยาคม จังหวัดขอนแก่น, 7.เด็กหญิงอรัญญา ยนตยศ โรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูล จังหวัดขอนแก่น


ทั้งนี้การประกวดดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรมวันภาษาไทยแห่งชาติประจำปี 2565 โดยจัดมาแล้วในภาคใต้ ที่จังหวัดสงขลา และภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก จะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 21 พฤษภาคม 2565 ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์ อยุธยา ตามลำดับ ซึ่งนักเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 ของแต่ละภาค จะเข้ารับรางวัลในงานวันภาษาไทยแห่งชาติของสำนักงานราชบัณฑิตยสภาต่อไป