ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม เดินหน้าขับเคลื่อนโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวเหนียว


วันที่ 10 พฤษภาคม 2565) ที่โรงแรมฟอร์จูนริเวอร์วิว อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เป็นประธาน เปิดการประชุมโครงการ อบรมองค์ความรู้ และพัฒนาทักษะการเป็นวิทยากร ภายใต้ “โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกร ผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG – Naga Belt Road) เพื่อเป็นการถ่ายทอดความรู้ในการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ยกระดับการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และได้รับการรับรองมาตรฐาน ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็งและมีศักยภาพด้านการแข่งขันที่สูงเพิ่มขึ้น ซึ่งเน้นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับใช้และสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่น ต่อยอดไปสู่ ‎Digital Marketing ในอนาคต

นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า จังหวัดนครพนม เป็น 1 ใน 4 จังหวัด ที่ดำเนินการขับเคลื่อน “โครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง (BCG – Naga Belt Road) โดยมีการดำเนินงานแบบบูรณาการหลายภาคส่วนร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และเกษตรกร ได้แก่ สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครพนม และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งร่วมกันผลักดันการใช้ BCG Model ซึ่งเป็นการนำเอาองค์ความรู้และนวัตกรรม BCG ไปปรับใช้ในการพัฒนาทรัพยากรและสินค้า ตลอดห่วงโซ่อุปสงค์ – อุปทาน เพื่อยกระดับและความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวของจังหวัดนครพนมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้สิ่งสำคัญในการผลักดัน BCG Model เพื่อเน้นให้เกิดการขับเคลื่อนในชุมชนที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าแบบครบวงจร โดยมีการร่วมบูรณาการด้านการผลิตพืช การพัฒนาผลิตภัณฑ์ นวัตกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างสรรค์อย่างยั่งยืนในชุมชน ด้วยการเชื่อมโยงทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ใช้ข้าวเหนียวเป็นพื้นถิ่น ก่อให้เกิดการต่อยอดไปสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงบูรณาการที่เกิดรายและและอาชีพของคนในชุมชนอย่างแท้จริง

สำหรับการ ขับเคลื่อนโครงการฯ ในพื้นที่จะมีทีมผู้ช่วยนักวิจัย นักวิจัยชุมชน และผู้ช่วยนักวิจัยชุมชนในแต่ละพื้นที่คอยติดตามและให้คำแนะนำ ในการเพาะปลูกข้าว การดูแลรักษา ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการบันทึกข้อมูล เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม โดยในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ และฝึกทักษะให้กับผู้ที่เข้าร่วม ได้แก่ การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP seed มกษ.4406-2560 การผลิตข้าวตามมาตรฐานเกษตรปลอดภัย GAP และเกษตรอินทรีย์ การวินิจฉัยโรคข้าว การใช้ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเกษตรและการผลิตข้าวลดโลกร้อนด้วยการผลิตข้าวร่วมกับแหนแดง และเทคนิคการเก็บข้อมูลด้านงานวิจัยและวัฒนธรรม และทักษะการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ในส่วนของแผนจัดฝึกอบรมเกษตรกรในจังหวัดนครพนม มีเป้าหมาย จำนวน 800 ราย ที่ต้องการจะพัฒนาและยกระดับเกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวในพื้นที่ให้สามารถลดต้นทุนการผลิต และสามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสร้างรายได้ด้วยการเพิ่มมูลค่าของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องเกษตรกรชาวนครพนมได้ดียิ่งขึ้น