ข่าวอัพเดทรายวัน

นครพนม Workshop โครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล”

วันที่ 7 มิถุนายน 2565 ที่ดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม นายชาธิป รุจนเสรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ร่วมกันในการพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านนาหว้า ตามโครงการสืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ กิจกรรมที่ 1 การพัฒนาชุมชนต้นแบบ การทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าชุมชนบ้านนาหว้า มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์และสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้า เผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายสิ่งทอและการอนุรักษ์ผ้าไทยให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ สืบสานพระราชปณิธาน “นาหว้าโมเดล” ในโอกาสครบรอบ 50 ปี โครงการศิลปาชีพ และเป็นต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนแบบครบวงจร และเพื่อบูรณาการองค์ความรู้ในการพัฒนาผ้าไทยพื้นถิ่น พัฒนาลวดลาย เส้นใย และสร้างมาตรฐานไปจนถึงการออกแบบลวดลายและการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นสากล โดยมี นายวรงค์ แสงเมือง ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิสาหกิจชุมชน กล่าวรายงาน

นายชาธิป รุจนเสรี กล่าวว่า ความตั้งพระทัยของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการทอผ้าของไทย โดยทรงมีพระวินิจฉัยแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าและงานหัตถกรรมชุมชนใน 3 ภูมิภาค จำนวน 200 ผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในการเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการตามรอยพระบาทสมเด็จ พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเสด็จพระดำเนินเยือนกลุ่มทอผ้าไหมกลุ่มแรกของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านนาหว้า ณ วัดธาตุประสิทธิ์ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ทอดพระเนตรขั้นตอนของการผลิตผ้าไหมจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาวอำเภอนาหว้า โดยการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ร่วมกันพัฒนาการทอผ้าไหม แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายชนิด อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า เป็นการสร้างรายได้เสริมจากอาชีพหลัก คือ การทำไร่ ทำนา ในครั้งนั้นทรงร่วมทอด้าย ปั่นด้าย ย้อมสี และทอผ้ากับประชาชน อย่างใกล้ชิด ทั้งทรงแนะนำการพัฒนาลวดลายผ้าและแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้มีความร่วมสมัย ทรงมีพระปฏิสันถารอย่างเป็นกันเองกับชาวบ้านในชุมชน ด้วยทรงห่วงใยและต้องการพัฒนาคุณภาพผ้าของชุมชนบ้านนาหว้า-ท่าเรือ สู่การเป็นชุมชนต้นแบบของประเทศ

นายสุรพล แก้วอินธิ พัฒนาการจังหวัดนครพนม กล่าวว่าการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ดำเนินงานระหว่างวันที่ 7 – 8 มิถุนายน 2565 มีผู้เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์หัตถกรรมและจำหน่ายสินค้าพื้นบ้านวัดธาตุประสิทธิ์ ตำบลนาหว้า กลุ่มศิลปาชีพทอผ้าไหมบ้านท่าเรือ อำเภอนาหว้า กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองวัด ศรีบุญเรือง บ้านนางัว หมู่ที่ 2 ตำบลนางัว กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านโคกสะอาด ตำบลบ้านเสียว กลุ่มทอผ้าพื้นเมืองบ้านนาหว้า หมู่ที่ 3 ตำบลนาหว้า กลุ่มคนรุ่นใหม่หัวใจคือชุมชน อำเภอนาหว้า ซึ่งมีกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงในการพัฒนาชุมชนต้นแบบการทอผ้าและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบเครื่องแต่งกาย ด้านสิ่งทอ ด้านการย้อมสีธรรมชาติ ด้านสาวไหม ด้านเข็นฝ้าย และด้านผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ แบ่งกลุ่มอบรมให้ความรู้ พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน 8 ฐานการเรียนรู้ และทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่พบปะ พูดคุย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง เพื่อกลุ่มจะได้นำความรู้ เทคโนโลยีไปปรับใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าให้ตรงความต้องการของลูกค้า สร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างยั่งยืน

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ได้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเคร่งครัด อาทิ การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ และการเว้นระยะห่างตามมาตรการควบคุมการแพร่ของโรคติดต่ออันตรายในท้องที่จังหวัดนครพนม