ข่าวอัพเดทรายวัน

จ.นครพนม เร่งหารือเตรียมรายงานขอต่อและขอรับรองสินค้า GI เพิ่มจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 ที่ห้อง ที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เป็นประธานการประชุมคณะทำงานการตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ระดับจังหวัดนครพนม เพื่อกลั่นกรอง ตรวจสอบขั้นตอนและกระบวนการดำเนินงาน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการขอใช้ตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครพนมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับรองสินค้าให้กับเกษตรกรชาวสวนผู้ปลูกสับปะรดท่าอุเทนและลิ้นจี่นครพนมที่ได้หมดอายุลง ซึ่งตามระเบียบใบอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์มีอายุครั้งละ 2 ปี

นายชาญชัย คงทัน รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมได้มอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดนครพนม บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์สินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือที่หลายคนรู้จักในนามสินค้า GI ซึ่งจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลังได้รับการรับรองสินค้าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก ทำให้เกษตรกรจังหวัดนครพนมมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทำให้เมื่อเปิดรับสมัครผู้ผลิตและผู้ประกอบในรอบนี้ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีทั้งเกษตรกรรายเดิมและรายใหม่สนใจสมัครเข้าร่วมจำนวนมากขึ้น โดยสับปะรดท่าอุเทน มีจำนวน 113 ราย จากเดิม 32 ราย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าอุเทนและอำเภอโพนสวรรค์ ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวียของนครพนม ที่มีการกลายพันธุ์จนมีคุณลักษณะที่โดดเด่นเฉพาะพื้นที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค และเป็น 1 ใน 10 สินค้าสับปะรดที่ได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์สินค้า GI ส่วนลิ้นจี่นครพนมมีเกษตรกรสนใจสมัครขอใบอนุญาต 41 ราย โดยสินค้าลิ้นจี่นครพนม เป็น 1 ใน 4 ชนิดที่ได้รับการรับรองสินค้า GI ซึ่งในการขอครั้งนี้ทุกคนยังต้องปฏิบัติตามขั้นตอนกระบวนการเช่นเดิม คือ ต้องยื่นแบบขอใบอนุญาต เข้ารับการฝึกอบรมและรับคู่มือระบบควบคุมภายในสำหรับผู้ขอใช้ตราสัญลักษณ์เพื่อไปเรียนรู้และปฏิบัติตามแนวทาง กระบวนการ ขั้นตอนการควบคุมการผลิต

โดยจะมีคณะกรรมการตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าฯ ระดับพื้นที่คอยกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดในทุกขั้นตอน ซึ่งเมื่อผ่านขั้นตอนที่กำหนด คณะกรรมการตรวจสอบและควบคุมกระบวนการผลิตสินค้าสิ่งบ่งชีภูมิศาสตร์ระดับจังหวัด จะมีการรายงานผลเพื่อเสนอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อขออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์ GI เป็นลำดับต่อไป โดยปัจจุบันจังหวัดนครพนมยังมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการขอรับรองสินค้า GI อีกอย่างน้อย 2 ตัว คือ ผ้าลายมุก ที่เป็นภูมิปัญญาผ้าโบราณร่วมสมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ เป็นผ้าชั้นสูงที่เจ้านายหรือภรรยาเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ใช้เป็นอาภรณ์ในการแต่งกาย และเป็นผ้าต้นแบบของผ้าพื้นบ้านอื่น ๆ ด้วยมีความละเอียดในการทอ ต้องใช้เวลานานกว่าจะทอออกมาได้แต่ละผืน และผลิตภัณฑ์อีกชิ้นคือครกบ้านกลางอำเภอท่าอุเทน ซึ่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างแท้จริง มีการสืบทอดต่อกันมากว่า 150 ปี เป็นที่ต้องการของตลาดทั่วประเทศ