ข่าวอัพเดทรายวัน

สปข.2 ประชุมเชิงปฎิบัติการ เตรียมความพร้อมแห่งชาติและแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย

วันที่ 10 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรมชีวาโขงนครพนม อำเภอเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เตรียมความพร้อมแห่งชาติและแผนป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการประชาสัมพันธ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่สำนักประชาสัมพันธ์เขต 2 จัดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบไปด้วยนายวรรณพล ต่อพล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะบุคลากรสำนักงานประชาสัมพันธ์เขต 2 และเครือข่ายสื่อมวลชนจาก 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด มุกดาหาร อำนาจเจริญ และจังหวัดนครพนม รวมทั้งสิ้น 50 คน ได้มีความรู้ความเข้าใจถึงแนวทางการในการปฏิบัติในแต่ละระดับของการสื่อสาร เห็นถึงลำดับขั้นตอนการรับมือ การประสานงานความร่วมมือ และการนำข้อมูลข่าวสารที่มีไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สื่อสารต่อยังประชาชน ให้ได้ตรงจุดตรงกลุ่มเป้าหมาย ทำให้ทุกคนมีความเชื่อมั่นต่อข้อมูลข่าวสารที่ได้ และนำไปใช้ประโยชน์ในการรับมือกับสาธารณภัยและภัยคุกคามด้านอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ผู้ที่เข้าร่วมประชุม ยังมีโอกาสได้รับฟังการบรรยายพิเศษ เรื่องการประชาสัมพันธ์ในสภาวะวิกฤต จากนางทัศนีย์ ผลชานิโก รองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่ได้นำเอาประสบการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งในระดับประเทศ ระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น มาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เห็นถึงความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ของแต่ละจุดเริ่มตั้งแต่ การเตรียมความพร้อมก่อนเกิดภัย เมื่อเกิดภัยต้องปฎิบัติและสื่อสารอย่างไรให้ทันท่วงที ไปจนถึงแนวทางการสื่อสารถึงการช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยและหลังภัยสงบ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้องกับข้อมูลข่าวสารที่ได้รับและพร้อมปฏิบัติตาม รวมทั้งยังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการรับมือสาธารณภัยและภัยคุกคามต่าง ๆ ที่ตนเองได้ปฏิบัติในพื้นที่ ผ่านการเสวนาและการแบ่งกลุ่มระดมความคิดเห็น เรื่องสื่ออย่างไรให้รู้เท่าทันสารพันภัย โดยในโอกาสนี้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ยังได้ให้ข้อคิดและแง่คิดในหลักการประชาสัมพันธ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิค วิธีการ ข้อควรระวัง และการสร้างคอนเทนต์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งการทำให้ประชาชนรู้เท่าทันข่าวลวงและข่าวปลอม เนื่องจากในยุคปัจจุบันประชาชนมีการใช้อินเตอร์เน็ตและโซเชียลมากยิ่งขึ้น จึงมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลอันเป็นเท็จได้ง่าย แต่ถ้าทุกคนรู้ถึงแนวทางการตรวจเช็คข้อมูลและรู้เท่าทันข้อมูลลวงต่าง ๆ ก็จะทำให้ไม่ถูกหลอกลวงได้