ข่าวอัพเดทรายวัน

ขอนแก่นเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านการคลังเอเปค APEC SFOM

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.65 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโส ด้านการคลังเอเปค (APEC Senior Finance Officials’ Meeting : APEC SFOM) ระหว่างวันที่ 21- 23 มิถุนายน 2565 ซึ่ง กระทรวงการคลัง ได้คัดเลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นสถนที่จัดการประชุม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2565 ที่กรุงเทพมหานคร

นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่น ได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านสถานที่ประชุม ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2565 โดยในวันที่ 22 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00น.จะเป็นพิธีเปิดการประชุม วันที่ 23 มิถุนายน 2565 เวลา11.30 น. จะมีพิธีแถลงข่าวผลการประชุม เวลา 13.00น.จะเดินทางไปดูงานและกิจกรรม ที่ สวนเกษตรมีกินฟาร์ม ตำบลจระเข้ อำเภอหนองเรือ และไปชมศูนย์วิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง ตำบลในเมือง อำเภอเวียงเก่า ซึ่งการประชุมในครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมที่จะต้อนรับแขกเมืองที่มาเยือนจังหวัดขอนแก่นในทุกๆ ด้าน

“ในช่วงการประชุม APEC SFOM นั้น สมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคและองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ประกอบด้วยองค์การ เพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ธนาคารโลก (World Bank) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) จะร่วมหารือกันในประเด็นเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก”

ทั้งนี้ การประชุม APEC SFOM ในครั้งนี้ ยังเป็นเวทีในการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปค ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ซึ่งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในปีนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่จะนำเสนอศักยภาพของประเทศไทยด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสนับสนุนการดำเนินนโยบายและมาตรการด้านการเงินการคลังต่างๆ

การประชุม APEC SFOM จะจัดขึ้นในรูปแบบการพบปะกันภายหลังจากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จะเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาโดยตลอด จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศหลังโควิด-19 พร้อมทั้งเป็นการแสดงศักยภาพของเศรษฐกิจชุมชนทั้งในด้านการท่องเที่ยวและเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมไทย ซึ่งสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG ที่ต้องการนำจุดเด่นของประเทศไทยในด้านความหลากหลายทางชีวภาพและอัตลักษณ์ของประเทศมาผสมผสานและเผยแพร่ให้เป็นสากลอีกด้วย