ข่าวอัพเดทรายวัน

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ สนับสนุนวิจัยเพิ่มประสิทธิภาพยกระดับรายได้เกษตรผู้ปลูกมันสำปะหลังจจังหวัดเลย

ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ถนนเลย-เชียงคาน ต.เมือง อ.เมือง จ.เลย จัดพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัย และนวัตกรรม ในการเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดเลย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ จัดโดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ร่วมกับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จังหวัดเลย บริษัท จ.เจริญมาร์เก็ตติ้ง จำกัด (บริษัท จ.เจริญฯ) และบริษัท ศรีตรัง แอโกรอินดัสทรี จำกัด มหาชน สาขาเลย (บริษัท ศรีตรังฯ) และการติดตามผลการดำเนินงานของโครงการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อยกระดับ พื้นที่จังหวัดเลย

รศ.สมเจตน์ ดวงพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย กล่าวว่า การพัฒนาท้องถิ่นเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย โดยเฉพาะการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้สนับสนุน ส่งเสริม และอำนวยความสะดวกแก่ นักวิจัยในการพัฒนาองค์ความรู้และการประยุกต์ใช้นวัตกรรม รวมทั้งการบูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดเลย

ทั้งนี้ได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนโครงการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ของ จ.เลย จำนวน 2 โครงการ ได้แก่โครงการวิจัยที่ 1 เรื่องการพัฒนาตลาดดิจิทัล เพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นตั้งแต่ต้นทางคือ นวัตกรรมผลผลิต ไปจนถึงปลายทางคือการตลาด เพื่อก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์จากแก้วมังกร สีย้อมผ้าธรรมชาติ น้ำยางพาราดิบ กัญชา และชาต้นดีหมี โดยโครงการนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปก่อนหน้านี้แล้ว

โครงการวิจัยที่ 2 เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดเลย โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการจัดการ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตและแปรรูปมันสำปะหลัง โดยการพัฒนาฐานข้อมูลและเส้นทางขนส่งมันสำปะหลัง การวิเคราะห์ความเหมาะสมและคุณภาพท่อนพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีสูบน้ำจากพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีน้ำหยดในแปลงปลูก การเพิ่มมูลค่าเหง้ามันสำปะหลังเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงแข็ง (RDF) และการเพิ่มมูลค่าใบมันสำปะหลังเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ทั้งนี้มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและเกิดผลสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ หรือ วช. ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ในฐานะหน่วยงานบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมได้รับมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการดำเนินการ ขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน ของจังหวัดเลย ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย เพื่อดำเนินโครงการวิจัยการพัฒนาตลาดดิจิทัลเพื่อยกระดับสินค้าและบริการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจังหวัดเลย และโครงการวิจัยการเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังจังหวัดเลยโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ โดยมุ่งหวังที่จะการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาประเทศ

โครงการดังกล่าวถือเป็นการตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โดยถือเป็นการเสริมแรงให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ทำการผลิตสินค้าและบริการได้พัฒนาและยกระดับสินค้าของชุมชนให้มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับ เสริมสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม และมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งของการตลาดดิจิทัล ซึ่งจะเป็นสื่อกลางในการประสานความต้องการในการซื้อสินค้าและบริการและความสามารถในการผลิตสินค้าตามปัจจัยแวดล้อมทั้งทางสิ่งแวดล้อมและสังคมของชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางในการสร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มศักยภาพการผลิตพืชเศรษฐกิจและรายได้ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดเลย โดยพัฒนาคุณภาพท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากมันสำปะหลัง เช่น เหง้ามันและใบมันสำปะหลัง ตามแนวคิด BCG Model

ทั้งนี้ วช. ได้มุ่งเน้นให้เกิดการขับเคลื่อน โดยการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์อย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการต่อยอดขยายผล เพื่อผลักดันงานวิจัย และนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเลย อันนำมาสู่พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานต่างๆ ที่บรรลุผลสำเร็จในอนาคต