ข่าวอัพเดทรายวัน

วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร นำนวัตกรรม กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ ช่วยเหลือชาวบ้านกกกอกใหม่ จ.สกลนคร เพิ่มขีดความสามารถทอผ้าย้อมคราม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กลุ่มทอผ้า “ภูพานพัตร” บ้านกกกอกใหม่ ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร ชาวบ้านกกกอกใหม่ จ.สกลนคร ได้มีการนำนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ซึ่งคิดค้นโดยวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทอผ้าย้อมคราม โดยสามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มทอผ้าฯ ได้มากกว่าครึ่งแสนต่อเดือน อีกทั้งยังเป็นการคงรักษาความเป็นผ้าทอมือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมไว้อีกด้วย

นางพัฒนา โสบุญ ประธานกลุ่มทอผ้า “ภูพานพัตร” บ้านกกกอกใหม่ ตำบลงิ้วด่อน อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เดิมตนมีอาชีพหลักทำนาเพียงอย่างเดียว ภายหลังได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาอาชีพ ของสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร รวมกลุ่มกันทอผ้าย้อมคราม เป็นอาชีพเสริม ภายหลังเริ่มมีชื่อเสียง มีผู้มาสั่งจองให้ทอผ้าเป็นจำนวนมากขึ้น ประสบปัญหาทอผ้าไม่ทันกับความต้องการของตลาด เนื่องจากสมาชิกกลุ่ม เกือบทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ทอผ้าได้ช้า ประกอบกับมีความต้องการต่อยอดอาชีพ ให้สามารถตัดเย็บเสื้อผ้าได้ จึงได้สมัครเข้าเรียนหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น “วิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร” ได้ออกมาสอนการตัดเย็บเสื้อผ้าที่ศาลาประชาคมหมู่บ้าน พร้อมคิดค้นนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ทำให้ผ้าทอมือ สามารถทอได้รวดเร็วขึ้น จากเดิมระยะเวลา 1 เดือน สามารถทอผ้าได้ 50 เมตร ตั้งแต่นำนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” มาช่วยทอผ้า ทำให้ทอผ้าได้มากถึง 100 เมตร สร้างรายได้จากการทอผ้าย้อมคราม จำหน่ายเป็นเมตร เดือนละกว่า 60,000 บาท และยังมีรายได้ส่วนหนึ่งจากการตัดเย็บเสื้อผ้าอีกด้วย

ด้านนางมนัสนันท์ ราตรีหว่าง ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร กล่าวว่า การคิดค้นนวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดสกลนคร เพื่อช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยา ด้านเศรษฐกิจ จากผลกระทบวิกฤตโรคโควิด-19 จึงได้คิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพทอผ้าย้อมคราม ให้สามารถทอผ้าได้หน้ากว้างขึ้น และทอได้เร็วขึ้น โดยยังคงรักษาความเป็นผ้าทอมือ ภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมไว้

ทั้งนี้ นวัตกรรม “กระสวยทอผ้ากึ่งอัตโนมัติ” ของวิทยาลัยอาชีวศึกษาสกลนคร ได้รับรางวัลอันดับที่ 3 การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษา ภาคอีสาน ประจำปี พ.ศ. 2565 และผ่านการนำเสนอเอกสารเชิงแนวคิด ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับที่มีคุณภาพ กิจกรรมการบ่มเพาะเพิ่มศักยภาพการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมสายอาชีวศึกษา Smart Invention & Innovation ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 จัดโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ