ข่าวอัพเดทรายวัน

ศรีสะเกษ ดร.จุ๋มนำชาวบ้านสามขาทำธนาคารน้ำใต้ดินแห่งแรกของศรีสะเกษ เพื่อแก้ปัญหานำเน่าเสียกำจัดลูกน้ำยุงลายทำให้ดินชุ่มชื้นแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างถาวร

เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บ้านสามขา ต.กู่ อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา หรือ ดร.จุ๋ม คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย ดร.สมเกียรติ ไตรสรณปัญญา นายภูมิสิทธิ์ มาประจง อดีตผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคประชาธิปัตย์ นายแรม เขตนิมิตร อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรน้ำและสิ่งแวดล้อม วิทยากรที่มาสาธิตการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ได้ร่วมกับ นายสาด พิมพะ ผญบ.ม.5 บ้านสามขา นำชาวบ้านสามขา จำนวนมาก พากันมาจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินบริเวณข้างถนนกลางหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งน้ำท่วมขัง เพื่อเป็นการสาธิตการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้กับกลุ่มชาวบ้านได้ทราบถึงขั้นตอนของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน จะได้ร่วมกันทำธนาคารน้ำใต้ดินในเขตหมู่บ้านสามขา จำนวนทั้งสิ้น 40 จุดด้วยกัน โดย ดร.จุ๋ม ได้ร่วมกับชาวบ้านพากันนำเอารถแบ็คโฮขนาดเล็กมาทำการขุดบ่อขนาดกว้าง 1.50 เมตร ลึก 3 เมตร จากนั้น ได้ร่วมกันนำเอาเศษอิฐบล็อก ขวดน้ำเปล่าที่บรรจุน้ำไว้ครึ่งขวดทิ้งลงไปในบ่อที่ขุดเตรียมไว้ นำเอาท่อเอสล่อนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้วมาเจาะรู จำนวนมาก แล้วเอาผ้าไนล่อนเขียวมาพันรอบท่อเอาไว้ปักลงไปในบ่อ จากนั้น ชาวบ้านได้ร่วมกันนำเอาอิฐแดง หิน ขี้เถ้า ก้อนกรวด ใส่ลงไปในบ่อจนเต็มบ่อ โดยท่อเอสล่อนจะอยู่สูงเหนือจากขอบบ่อประมาณ 50 ซม. ลงไปใต้ก้นบ่อประมาณ 50 ซม. ก็จะได้ธนาคารน้ำใต้ดินที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งการทำธนาคารน้ำใต้ดินที่หมู่บ้านสามขานี้ เป็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินแห่งแรกของ จ.ศรีสะเกษ ที่มีการดำเนินอย่างจริงจัง

ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา หรือ ดร.จุ๋ม คณะที่ปรึกษา รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เราได้ลงพื้นที่และได้มารับรู้ปัญหา ตามโครงการเยี่ยมยามถามข่าวของ ดร.จุ๋ม ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา เราได้มาเจอว่าน้ำในหมู่บ้านนี้ถนนทั้งสายจะเป็นน้ำขังเป็นเหมือนน้ำเสียจากน้ำล้างจาน จากท่อระบายน้ำ ทำให้มีกลิ่นเหม็น น้ำขังทำให้เกิดลูกน้ำยุงลายเกิดขึ้นเยอะมาก ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับยุงเยอะด้วย เราจึงได้มาเชิญชวนชาวบ้านกันว่าเราจะมาทำธนาคารน้ำใต้ดินกันดีหรือไม่ ชาวบ้านสามขาทุกคนได้เห็นด้วย ซึ่งการทำธนาคารน้ำใต้ดินจะแก้ปัญหาคือ 1.น้ำเน่าน้ำเสียไม่ขัง 2.ลดปัญหายุงลายลดน้ำที่ขังเป็นที่เกิดของยุงลาย และ 3.ทำให้ภูมิทัศน์ของหมู่บ้านสะอาดสวยงาม สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นคือพี่น้องชาวบ้านสามขาทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกัน พี่น้องทุกคนลงขันกัน ดร.จุ๋มชวนว่าถ้าเราจะทำธนาคารน้ำใต้ดิน จะต้องขอเงินซื้อหวย 2 งวด วันที่ 1 กับวันที่ 16 ชาวบ้านหมู่บ้านสามขาเห็นด้วย ก็ได้ลงขันกัน ไม่เพียงลงขันกันได้พากันลงแรงเก็บหินเก็บขวดน้ำมากรอกน้ำเพื่อที่จะใช้วัสดุที่มีอยู่ จะช่วยกันเช่นบ้านที่กำลังก่อสร้างอยู่นี้ก็ได้พวกเราช่วยกันในการเก็บหินที่จะเอาไปทิ้งเขาก็ได้รับประโยชน์แรงงานพวกเราและสร้างประโยชน์จากชุมชนด้วย โครงการนี้ตนต้องการให้เป็นโมเดลให้หมู่บ้านสามขา ต.กู่ อ.ปรางค์กู่จ.ศรีสะเกษ เป็นโมเดลแห่งความสำเร็จเป็นโมเดลแห่งการแก้ปัญหาเรื่องน้ำของพี่น้องประชาชนชาว จ.ศรีสะเกษ

ดร.ฐิตารีย์ ไตรสรณปัญญา หรือ ดร.จุ๋ม กล่าวต่อไปว่า แนวความคิดนี้ ดร.จุ๋มได้ไปเป็นนักเรียนชุมชนกรชุมชนของโครงการ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.กระทรวงศึกษาธิการท่านได้มีดำริและได้สั่งสานฝันของพี่น้องประชาชน แต่ว่าทุกคนยังไม่ได้นำเอามาปฏิบัติจริงส่วนหนึ่งท่านได้พาทุกคนปฏิบัติแล้ว ในโครงการนี้ท่าน ดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย โฆษกประจำ รมช.กระทรวงศึกษาธิการ เป็นพิธีกรในการบรรยายให้พวกเราและได้เรียนรู้และมีทีมงานชนกรรุ่น 1 ของเรามาช่วยไม่ใช่เพียงแค่ชาวบ้าน ทีมงานที่เรียนด้วยกันก็ลงมาช่วยกัน เล่าเรียนทฤษฎีปฏิบัติแค่ช่วงที่เรียนแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการทำจริงลงมือจริง เพื่อให้ได้เห็นผลจริงกัน ปัญหาน้ำท่วมขังก็จะหายไป ธนาคารน้ำใต้ดินแห่งนี้จะช่วยในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วย เนื่องจากอาจจะเห็นว่าไม่มีน้ำขังข้างบน แต่ว่าน้ำจะอยู่ข้างล่างน้ำมันจะขังอยู่ข้างล่างจะมีโพลงน้ำอยู่ข้างล่าง เราไม่ได้ทำเพียงจุดนี้แห่งเดียว วันนี้ในหมู่บ้านแห่งนี้เราทำจำนวนทั้งสิ้น 40 จุดและเราจะทำบ่อลม เพื่อให้มันมีอากาสมีลมหายใจออกมา มันจะทำงานออโต้รันคือจะทำงานเป็นระบบของมันเองตามที่เราได้ทำเอาไว้ จากที่เราร่วมแรงร่วมใจกันด้วยมือแล้ว เขาจะปฏิบัติการเองอยู่ใต้น้ำของเขา นี้คือที่เรียกว่าธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิด หลังจากนั้นแล้วพอเราทำแบบพิเศษเราเห็นแล้วว่า น้ำมันจะไปทางไหนเราจะมาสำรวจกันอีกครั้งว่าเราจะทำธนาคารน้ำแบบเปิดในหมู่บ้านเราตรงไหน โดยจะได้มาดำเนินการร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

นายสาด พิมพะ ผญบ.ม.5 บ้านสามขา ต.กู่ กล่าวว่า ธนาคารน้ำใต้ดินนี้จะมีประโยชน์ต่อพี่น้องหมู่บ้าน สามขาคือ ต่อไปจะไม่มีน้ำขังบนถนน จะไม่มีแหล่งเพราะพันธ์ของยุงลายและจะไม่ต้องทำร่องระบายน้ำอีกต่อไป เพราะว่า หากทำธนาคารน้ำใต้ดินขึ้นมาน้ำก็จะไหลมาที่บริเวณนี้จุดเดียวหมด ทำให้บริบทต่างๆ เวลาใช้รถใช้ถนนก็จะทำให้สะดวกสบายเนื่องจากไม่มีน้ำเสียน้ำขังบนถนน ในเขตหมู่บ้านสามขาจะทำจำนวน40 จุดก่อน เพื่อเป็นการนำร่อง ส่วนหนึ่งพี่น้องได้ช่วยเป็นเงินเก็บหลังคาละ 100 บาทซื้อวัสดุปกรณ์ส่วนหนึ่ง ดร.จุ๋มก็ได้ช่วยสนับสนุนเพื่อประโยชน์ของชาวบ้าน ซึ่งธนาคารน้ำใต้ดินนี้ถ้าหมู่บ้านของตนทำเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นสถานที่เก็บน้ำทำให้ดินชุ่มชื่นในการปลูกพืชผักต่างๆ ได้เป็นอย่างดีช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งได้อย่างถาวรอีกด้วย

นางเพียร พิมพะ อายุ 53 ปี อยู่บ้านเลขที่ 14 หมู่ 5 บ้านสามขา ที่มาร่วมทำธนาคารน้ำใต้ดิน กล่าวว่า ตนดีใจมากเลยที่เกิดโครงการนี้ขึ้นมา บ้านสามขาของเราจะได้มีน้ำอุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งจะทำให้ถนนหนทางสะอาดสอ้านด้วย ขอบคุณ ดร.จุ๋มที่ได้มาช่วยกันดำเนินการในครั้งนี้