ข่าวอัพเดทรายวัน

อบก.ร้อยเอ็ดเร่งช่วยเหลือเกษตรกรรักษาโฉนดที่ดินถูกฟ้องคดี ติดจำนอง-ขายฝาก

ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดร้อยเอ็ด นายสนอง ดลประสิทธิ์ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการเกษตรและผู้ยากจน(อบก.)ส่วนจังหวัดร้อยเอ็ด ครั้งที่ 4/2565 เพื่อพิจารณาเรื่องหนี้เกษตรกร โดยมี อัยการจังหวัด คลังจังหวัด เกษตรจังหวัด เกษตรและสหกรณ์จังหวัด ประมงจังหวัด ธกส. สภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)ภาคอีสานร่วมพิจารณาหาแนวทางช่วยเหลือ

ดร.ประจักร์ บุญกาพิมพ์ ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด ผู้แทนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)ภาคอีสานกล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด โดยนายสมจิต คำสี เกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดงานคลินิคเกษตรเคลื่อนที่ขึ้น ณ อำเภอพนมไพร จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อให้คำปรึกษาเรื่องต่างๆแก่เกษตรกร ทั้งการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ ซึ่งสภาเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ดทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสำนักงานเกษตรจังหวัด ตามคำสั่งของ ผวจ.ร้อยเอ็ด ภายในงานดังกล่าวนอกจากจะมีการมอบพันธุ์ปลาจากประมงจังหวัด และบริการด้านอื่นๆ แล้ว สำนักงานสภาเกษตรกรฯ ก็ได้ส่งพนักงานออกเผยแพร่ให้ความรู้ ประชาสัมพันธ์ภารกิจของสำนักงานว่า เรามีช่องทางหรือวิธีการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไรบ้าง ซึ่งสภาเกษตรกรมีอำนาจมีหน้าที่อำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาด้านต่างๆ ช่วยประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งตนเองในฐานะผู้แทนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรภาคอีสาน จากจำนวน 7 คนของภาคอีสาน ได้เข้าไปนำเรียนชี้แจงกับ ผวจ.ร้อยเอ็ด ว่ากองทุนมีภารกิจช่วยเหลือซื้อหนี้ให้เกษตรกรที่ยากจน ส่งหนี้ธนาคารทั้ง 4 ธนาคารไม่ได้หรือถูกยึดทรัพย์แล้ว เราก็หาทางช่วยเหลือโดยการซื้อหนี้ให้

ล่าสุดกองทุนฟื้นฟูฯซื้อหนี้ให้เกษตรกรซึ่งเป็นสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัยจำกัด จำนวน 91 ล้านกว่าบาท และสหกรณ์การเกษตรเสลภูมิจำกัด จำนวน 1 ล้านกว่าบาท รวมเป็น 93 ล้านบาทเศษ และได้เรียนเชิญท่าน ผวจ.ร้อยเอ็ด เป็นผู้แทนกองทุนฟื้นฟูฯมอบเช็คซื้อโฉนดที่ดินให้แก่สหกรณ์การเกษตรทั้ง 2 แห่งไปแล้ว

“เราคิดอยู่เสมอว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรเข้าใจภารกิจ บาทบาทหน้าที่ของกองทุน และความตั้งใจในการที่จะช่วยเหลือเกษตรกร ” ในส่วนโฉนดที่ดินเมื่อซื้อแล้วใบโฉนดจะไปอยู่กับกองทุนฟื้นฟู ส่วนที่ดินนั้นเกษตรกรสามารถทำกินได้ แต่จะไม่สามารถซื้อคืนได้ภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากผ่าน 5 ปีจึงจะสามารถซื้อคืนได้ แต่ต้องไม่เกิน 25 ปี โดยไม่มีดอกเบี้ย ทั้งนี้และทั้งนั้นเพื่อป้องกันการถูกนายทุนมาหลอกลวงเอาโฉนดของเกษตรกรไปทำการฟอกเงินนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ดร.ประจักร์ บุญกาพิมพ์ กล่าวอีกว่า “ผมเห็นความต่างของกองทุนนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)อย่างชัดเจน คือ กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเพื่อการเกษตรและผู้ยากจน(อบก.)คิดดอกเบี้ยและเน้นรักษาที่ดินโดยตรง ส่วนกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)ตอนนี้ไม่คิดดอกเบี้ย สมาชิกจึงโชคดีต่างกัน
แต่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร(กฟก.)วันนี้ลืมหนี้ NPL ดูแต่ NPA รักษาโฉนดที่ดินลืมหนี้เดิมๆ ส่วนหนี้แบบ NPLไม่พูดถึงเราก็ได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไรดี ” เพราะการทำงานเราทำเป็นทีม ต้องยึดเอาเสียงข้างมากตามระบอบประชาธิปไตย ได้แต่หวังว่าสักวันกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจะคิดถึงหนี้ที่ไม่ใช่เรื่องหนี้ NPAอย่างเดียว ตามหลักการดั้งเดิมบ้างครับ