ข่าวอัพเดทรายวัน

จังหวัดขอนแก่นพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 47 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พร้อมเตือนประชาชนช่วงหน้าฝนระวังป่วยโรคไข้เลือดออกและโรคไข้ฉี่หนู

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 ก.ค.65 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้เข้าสู่ช่วงหน้าฝนแล้วซึ่งอาจจะทำให้มีฝนตกเกิดน้ำท่วมขังตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามภาชนะหรือวัสดุต่างๆ บริเวณรอบตัวบ้านที่มีน้ำท่วมขังหลังจากฝนตก พร้อมทั้ง ใช้กลไก อสม.เป็นปราการด่านหน้าในการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน/ชุมชน

“สถานการณ์ในช่วง 6 เดือนแรกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นนั้น จังหวัดขอนแก่นมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกรวม 47 รายไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบสูงสุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 5-9 ปี โดยกลุ่มผู้ป่วยที่พบสูงสุด คือ กลุ่มนักเรียน 33 ราย พบผู้ป่วยสูงสุดในเดือนมิถุนายน จำนวน 25 ราย พบผู้ป่วยในเขตเทศบาล 14 รายในเขต อบต. 33 ราย จึงเป็นข้อบ่งชี้ว่าในพื้นที่ทั้งในเขตเมืองและในเขตพื้นที่ภาคการเกษตร พบว่า มีผู้ป่วย จึงต้องมาพิจารณาใน 2 ส่วน คือผู้ป่วยที่พบเป็นกลุ่มก้อน คือบ้านหนองหว้า ตำบลหนองเสาเล้า อำเภอชุมแพ พบผู้ป่วย 5 คน และอีกกลุ่ม คือ บ้านโสกขาแก้ว ตำบลห้วยเตย อำเภอซำสูง พบมีผู้ป่วย จำนวน 8 ราย ซึ่งทำให้จะต้องมีการแจ้งเตือนและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยขอให้ประชาชนได้หมั่นทำความสะอาดอาคารบ้านเรือน กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย กำจัดพื้นที่น้ำท่วมขังและภาชนะรับน้ำที่มีน้ำขัง ซึ่งจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อความปลอดภัยของคนในครอบครัวและชุมชน”

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้ฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรซิส ภาพรวมผู้ป่วยไข้ฉี่หนูที่พบส่วนใหญ่จะเป็นประชาชนที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ที่ต้องลุยน้ำ ย่ำโคลนเป็นเวลานาน ในพื้นที่ที่มีน้ำขัง แฉะ ขอให้ประชาชนในช่วงฤดูฝนนี้ ซึ่งหากพบว่ามีอาการป่วย ผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร หากมีอาการดังกล่าว หลังจากไปแช่น้ำย่ำโคลนมา 2-26 วัน ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้ฉี่หนู ไม่ควรหายามากินเอง ต้องรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยแพทย์ใกล้บ้านโดยทันที เพราะหากไม่รีบรักษาอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งเชื้อไข้ฉี่หนู จะเข้าสู่ร่างกายโดยการใช้เข้าทางบาดแผลหรือเข้าทางเยื่อบุอ่อนๆ เช่น ง่ามมือ ง่ามเท้า เยื่อบุตา ขณะที่แช่น้ำ หรือรับประทานอาหาร หรือน้ำปนเปื้อนเชื้อไข้ฉี่หนู ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อโรคได้