ข่าวอัพเดทรายวัน

องคมนตรีตรวจเยี่ยมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

องคมนตรีลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรีประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ นายหทัย วสุนันต์ ที่ปรึกษาด้านการประสานงานโครงการฯ สำนักงาน กปร. และคณะอนุกรรมการฯ เดินทางไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนพร้อมระบบส่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ติดตามความก้าวหน้าและผลสัมฤทธิ์ของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์มอบหมายให้นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการ จ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนให้การต้อนรับ

สำหรับโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ได้พระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำถึง 5 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2535 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนฯ ในพื้นที่บ้านดงหมู ตำบลคุ้มเก่าและบ้านนาวี ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีน้ำใช้ทำการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่างอีกส่วนหนึ่ง

ปัจจุบันได้มีการเพิ่มขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำเดิมจากความจุที่ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมทั้งก่อสร้างท่อระบบส่งน้ำทั้งสองฝั่งเพื่อให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ปัจจุบันมีพื้นที่รับประโยชน์ 5,600 ไร่ จำนวน  507 ครัวเรือน ได้แก่ ตำบลสงเปลือย 14 หมู่บ้าน 356 ครัวเรือน ตำบลคุ้มเก่า 5 หมู่บ้าน 151 ครัวเรือน มีผลผลิตเฉลี่ยข้าวนาปี (ข้าวเหนียว กข.) ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ (ปี 2539-2564) 500.38 กิโลกรัม/ไร่/ปี (เดิมเฉลี่ย 273 กิโลกรัม/ไร่/ปี) มีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 44,197 บาท/ไร่/ครัวเรือน/ปี เป็นรายได้เฉลี่ย 70,905 บาท/ไร่/ครัวเรือน/ปี

 นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ให้การสนับสนุนองค์ความรู้แก่เกษตรกรผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบนฯ โดยดำเนินการสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นศูนย์ฯ สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยให้การสนับสนุนงบประมาณเป็นประจำทุกปีทำให้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง

จากนั้นคณะฯ ได้เดินทางไปยังบ้านเกษตรกร นายวิศักดิ์ อารมณ์สวะ หมู่ที่ 7 ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งได้รับประโยชน์จากโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังฯ โดยน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการทำเกษตรทฤษฎีใหม่บนที่ดินจำนวน 12 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ส่วนที่ 1 ขุดสระเก็บกักน้ำ และเลี้ยงปลา ส่วนที่ 2 ปลูกผลไม้ ไม้ยืนต้น พืชไร่ พืชผักสวนครัว ในลักษณะผสมผสานกันหลากหลายชนิด ส่วนที่ 3 ทำนาข้าวเหนียวเขาวง ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวเขาวง ปลูกเพื่อบริโภค และส่วนที่ 4 เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ โรงเรือนอื่น ๆ ซึ่งผลผลิตทางการเกษตรนำไปขายเองในหมู่บ้าน หน่วยงานราชการ บริษัทเอกชน ทำให้มีรายได้ที่มั่นคงเนื่องจากไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้ครอบครัวมีความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ต่อมาคณะฯ เดินไปทางไปยังอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ก่อสร้างขึ้นตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ซึ่งอยู่ทางฟากจังหวัดมุกดาหาร มาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยัง ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังสามารถขยายพื้นที่รับน้ำได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้การก่อสร้างอุโมงค์เป็นการเจาะลอดใต้เขาภูบักดี ขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 3 เมตร ยาว 740 เมตร ใช้ระบบผันนํ้าด้วยท่อเหล็ก ปริมาณนํ้าไหลผ่านท่อ 2.0 ลูกบาศก์เมตร/วินาที พร้อมกับถังพักนํ้าคอนกรีตเสริมเหล็กทรงกระบอก ที่สามารถส่งน้ำได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 12,000 ไร่ พื้นที่บริเวณ 15 หมู่บ้าน ในเขตตำบลสงเปลือย และพื้นที่บริเวณ 18 หมู่บ้าน ในเขตตำบลคุ้มเก่า อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประชาชนได้รับประโยชน์ 1,025 ครัวเรือน ผลผลิตเฉลี่ยข้าวนาปี (ข้าวเหนียว กข.) ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ (ปี 2554-2564) ประมาณ 564 กิโลกรัม/ไร่ เฉลี่ย 90.84 ล้านบาท/ปี คิดเป็นผลประโยชน์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากเดิม 46.81 ล้านบาท/ปี

ในช่วงบ่าย คณะฯ ยังเดินทางไปยังแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ นางเปรียบมา ศรีพันลม อยู่ที่ตำบลหนองผือ อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เกษตรกรเครือข่ายโครงการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนบ้านแดนสามัคคีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นหนึ่งในโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์

โดยนางเปรียบมาฯ เข้าร่วมโครงการขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ในปี 2560  และได้ศึกษาหาความรู้ทำความเข้าใจกับหลักการเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จนสามารถนำมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ และขยายผลไปสู่เพื่อนบ้านใกล้เคียง สามารถรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผักเขาวงอุโมงค์ลอดภูเขาวง และในปี 2561 ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดกลุ่มแปลงใหญ่พืชผักเขาวง-อุโมงค์ลอดภูเขาวง” มีสมาชิกในกลุ่ม  32 ราย ซึ่งนางเปรียบมา มีรายได้จากการจำหน่ายข้าว หน่อไม้ พืชผัก ปลาและกบ ปีละประมาณ 168,000 บาท มีอาหารบริโภคอย่างเพียงพอตลอดปี