ข่าวอัพเดทรายวัน

กาฬสินธุ์มูลนิธิปิดทองพลิกวิถีชาวนาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริและคณะ ลงพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ ในพื้นที่โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริและพื้นที่นอกเขตชลประทาน เปลี่ยนวิถีทำนาข้าวมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดพื้นที่ทำนา เป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ ราคาประกันสูงกว่าข้าวเปลือก

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 ก.ค. 65 ที่แปลงสาธิตปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เกษตรกรรายนางน้อย สุทธิทักษ์ อายุ 63 ปี บ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ นายกฤษฎา บุญราช ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่ส่งเสริมเกษตรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อลดพื้นที่ทำนา และเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ ส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอทั้ง 18 อำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เครือข่ายเกษตรกร และภาคเอกชน ร่วมต้อนรับและร่วมงาน

นายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตร จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า สำหรับความก้าวหน้าของโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจ.กาฬสินธุ์ โดยสังเขป ประกอบด้วยการจัดทำแปลงต้นแบบ การปลูกข้าวโพดต้นฝน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษาเรียนรู้ ก่อนลงมือปลูกหลังฤดูทำนา โดยตั้งเป้าหมายผลผลิตประมาณ 1,300-1,500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งได้จัดทำ 2 แปลง ได้แก่แปลงต้นแบบในพื้นที่ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ บ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จำนวน 2 ไร่ และแปลงต้นแบบในพื้นที่ของนางน้อย สุทธิทักษ์ เกษตรกรบ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ ซึ่งสมัครใจเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดต้นฝน จำนวน 2 ไร่ และจะเชิญชวนเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 6 ราย พื้นที่ประมาณ 15-20 ไร่

นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนแนวทางการทำงาน เพื่อสร้างการรับรู้ความเข้าใจแก่หน่วยงานภาครัฐ และเกษตรกรในการสมัครเข้าร่วมโครงการ เช่น จัดประชุมชี้แจงส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรอำเภอ สถาบันปิดทองหลังพระ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โปรดิ๊วส์ จำกัด เพื่อร่วมวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกในจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งสรุปได้ 9 อำเภอ พื้นที่รวมทั้งสิ้น 2,700 ไร่ ประกอบด้วย อ.เขาวง 500 ไร่, อ.ยางตลาด 500 ไร่, อ.ร่องคำ 300 ไร่, อ.เมืองกาฬสินธุ์ 300 ไร่, อ.นาคู 300 ไร่, อ.สหัสขันธ์ 300 ไร่, อ.กมลาไสย 300 ไร่, อ.นามน 100 ไร่ และ อ.ห้วยผึ้ง 100 ไร่ ทั้งนี้ กำหนดจุดรับซื้อผลผลิตในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 100 ไร่ขึ้นไป 6 จุด ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส. กาฬสินธุ์ จำกัด, สหกรณ์การเกษตร ยางตลาด จำกัด, สหกรณ์การเกษตร กมลาไสย จำกัด, สหกรณ์การเกษตร นาคู จำกัด, สหกรณ์การเกษตร เขาวง จำกัด และสหกรณ์การเกษตร หนองกุงศรี จำกัด

“เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใน จ.กาฬสินธุ์ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ โดยมีนายธวัชชัย รอดงาม รอง ผวจ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนทุกบริษัทร่วมโครงการ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ข้อตกลงที่เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่ร่วมโครงการกับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ และส่วนราชการในการพัฒนาตามแนวทางตลาดนำการผลิต” นายพงษ์ศักดิ์กล่าว
ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ กล่าวว่า ขณะนี้โลกกำลังขาดแคลนอาหารจากความขัดแย้งทางตะวันตกโดยเฉพาะข้าวสาลี และข้าวโพด ในพื้นที่ประเทศไทยโดยเฉพาะแถบภาคอีสาน การปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ น่าจะตอบโจทย์สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่มีที่นา ที่ไร่ สร้างรายได้ในช่วงสถานการณ์แบบนี้ได้ เนื่องจากทางสถาบันฯ ได้ทดลองระหว่างการทำนาและปลูกข้าวโพด กับรายได้พึ่งมีของเกษตรกรที่จะได้ เห็นได้ชัดว่าเกษตรกรจะยังพอมีเงินรายได้จากการปลูกข้าวโพดมากกว่าการปลูกข้าว แม้ว่าจะขายในความชิ้น 28% ก็ยังยังมีราคาที่ กก.ละ 8.5 บาท เฉลี่ยมีรายได้พื้นที่ 1 ไร่ ประมาณ 3-4 พันบาท หักต้นทุนแล้วยังคงมีเงิน 2,0001 บาท ต่อไร่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร ได้เชิญชวนภาคเอกชน ที่จำหน่ายอาหารสัตว์อยู่แล้วเข้ามาทำสัญญาในการรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางของ “การตลาดนำการผลิต” ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม

“สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมกับสถาบันปิดทองหลังพระ จะมีความมั่นใจว่าเมื่อทางราชการและสถาบันปิดทองหลังพระ มาสนับสนุนให้ปลูกพืชชิดนั้น ๆ แล้ว จะมีแหล่งรับซื้อได้ชัดเจน ได้รับทราบราคากลาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะปลูกพืชต่าง ๆ ภายใต้การส่งเสริมจากภาครัฐและสถาบัน เพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกข้าวโพดก่อนฤดูฝน คือช่วง ก.ค. – ส.ค. อาจจะยังมีพื้นที่ไม่มากเพราะยังติดเรื่องทำนา แต่ในส่วนของข้าวโพดหลังนา คาดว่าจะเห็นผลมีพื้นที่มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ 2,700 ไร่ ใน 18 อำเภอ ของ จ.กาฬสินธุ์ อย่างไรก็ตามโครงการฯ ขอความร่วมมืองดการเผาตอซังข้าวโพดเพราะจะให้เกิดฝุ่นละออง เถ้าเขม่า และก๊าช หลายชนิด ที่ก่อให้เกิดมลพิษและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ให้หันมาไถกลบ เพื่อให้เกิดกระบวนการย่อยสลายในดินซึ่งจะกลายเป็นแหล่งของอินทรียวัตถุและธาตุ อาหารพืชต่อไป” นายกฤษฎา กล่าว

ด้านนางน้อย สุทธิทักษ์ เกษตรกรบ้านทรัพย์เจริญ กล่าวว่า หลังจากได้ทราบแนวทางส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากเจ้าหน้าที่เจ้าหน้าที่มูลนิธิปิดทองหลังพระและเจ้าหน้าที่เกษตรแล้ว จึงไดตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ด้วยความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าว ซึ่งดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อย ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า เนื่องจากราคารับซื้อข้าวเลือกตกต่ำ เพียง ก.ก.ละ 5 บาท ขณะที่ราครับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีประกันราคารับซื้อ ไม่น้อยกว่า ก.ก.ละ 8 บาท ทั้งนี้ ตนยังจะเชิญชวนเกษตรกร ในพื้นที่พัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เยอะๆ อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากนายกฤษฎา บุญราช ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้พบปะส่วนราชการและเกษตรกรแล้ว ได้ขึ้นขับรถไถที่ติดตั้งเครื่องหยอดเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำการหยอดสาธิต และใช้โดรนสำหรับพ่นฉีดฮอร์โมนส์ เพื่อเป็นแปลงต้นแบบในลำดับต่อไป