ข่าวอัพเดทรายวัน

ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI ของขอนแก่น หนึ่งในสินค้าดี GI อีสานสู่สากล

ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI ของขอนแก่น หนึ่งในสินค้าดี GI อีสานสู่สากล โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นจับมือสำนักงานพาณิชย์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเปิดตลาดการค้าสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขง

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 17 กรกฏาคม 2565 ที่กลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข ที่บ้านดอนข่า ต.ชนบท อ.ชนบท จ. ขอนแก่น นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น พร้อมคณะลงพื้นที่เยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 18 แห่ง สินค้าดี GI อีสานสู่สากล

นายชาญยุทธ วันดี พาณิชย์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สำนักงานพาณิชย์จังหวัดขอนแก่นจับมือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนคร พร้อมผลักดันผ้าไหมมัดหมี่ชนบท GI จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 18 แห่ง สินค้าดี GI อีสานสู่สากล มั่นใจคุณภาพ ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท เนื่องจากเป็นผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติด้วยน้ำจุลอินทรีย์ ภูมิปัญญาเป็นชาวบ้าน มาตรฐานเป็นสากล สร้างชุมชนอย่างยั่งยืน โดยกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข บ้านดอนข่าคือชุมชนต้นแบบ เคยได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ ของจังหวัดขอนแก่น พ.ศ.2556 โครงการพัฒนาหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ “อยู่เย็นเป็นสุข” ซึ่งบ้านดอนข่ามีพื้นฐานการพัฒนาชุมชนที่ดี ที่ชัดเจนมีกิจกรรมการพัฒนาหลากหลาย เช่น กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ธนาคารข้าว กลุ่มอาชีพทอผ้าไหม กิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นต้น และที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์

“มัดหมี่” เป็นกรรมวิธีในการทอผ้าแบบหนึ่ง ที่อาศัยการย้อมเส้นด้ายก่อนการทอ มีที่ย้อมเฉพาะด้ายยืน ด้ายที่ขึงตามแนวยาว และย้อมเฉพาะด้ายพุ่ง ด้ายอีกชุดหนึ่งที่สอดขัดกับด้ายยืนตามแนวขวาง เมื่อทอเป็นผืนแล้วจะเกิดลวดลายและสีสันตามที่ต้องการ เดิมการมัดหมี่นิยมใช้เส้นไหม แต่ปัจจุบันมีทั้งเส้นไหม ฝ้าย และเส้นใยสังเคราะห์
นายทวี สุขโข ประธานเครือข่ายผู้ประกอบการกลุ่มหัตถกรรมคุ้มสุขโข กล่าวว่า กลุ่มผลิตผ้าไหมมัดหมี่สีธรรมชาติที่มีลายนพเก้าเฉลิมพระเกียรติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าไหมแบรนด์ “มาคา” (MAKA BRAND) มีขบวนการฟอกย้อมได้มาตรฐาน Organic สากล ได้รับการรับรองมาตรฐาน Green Production, Global Organic Textile Standard ซึ่งเป็นผ้าไหมแบรนด์เดียวที่ย้อมสีธรรมชาติด้วยน้ำหมักแบบย้อมเย็น และเลือกใช้วัสดุให้สีจากในท้องถิ่น เช่น ต้นราชพฤกษ์ มะเกลือ ปุ๋ยคอก รวมถึงผลิตชาใบหม่อน เบเกอรี่ลูกหม่อน น้ำชีวภาพหม่อน/ใบหม่อน ผลิตภัณฑ์มูลหม่อนเพื่อย้อมสีไหม ฯลฯ ไม่มีการใช้สารเคมีเข้ามาเป็นส่วนประกอบตั้งแต่การปลูกหม่อนโดยใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการย้อมเส้นไหมแบบย้อมเย็น ซึ่งเป็นการย้อมที่ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงและสีที่นำมาย้อมก็มาจากวัสดุธรรมชาติ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบลายผ้าไหม โดยมีการรวมลาย 9 ลาย แล้วตั้งชื่อว่า “ผ้าไหมมัดหมี่เฉลิมพระเกียรติลายนพเก้า” ถือเป็นสินค้า OTOP 5 ดาวของที่นี่

“ผมใช้เรื่องราวของงานผูกเสี่ยวที่จัดขึ้นที่มหานครขอนแก่น เมืองแห่งมิตรภาพที่สำคัญที่สุดของโลกเมืองหนึ่งขอนแก่นก็จะมีภูมิปัญญาเรื่องราวของการทำกิจกรรมการผูกเสี่ยวด้วยการทำพานบายศรีสู่ขวัญที่สวยสดงดงามมากเป็นงานใบตองและทุกคนในภาคอีสานจะเรียกพานบายศรีสู่ขวัญนี้ว่า “ขันหมากเบ่ง” ผมก็เอาเรื่องราวของขันหมากเบ่งมาออกแบบกราฟิกลายเป็นมัดหมี่และเราก็เรียกชื่อลายว่าขันหมากเบ่ง เป็นลายที่ 8 และลายที่ 9 มาจากเรื่องราวของการเป็นเมืองชนบทวิบูลย์ ซึ่งชนบทวิบูลย์เป็นชื่อพระราชทานจากพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งเราสถาปนาเมืองชนบทพิบูลย์หลังจากการสถาปนา กทม.เพียงปีเดียว ตนจึงเอาเรื่องราวเข้ามาสู่การสร้างลาย การออกแบบกราฟิกลายมัดหมี่และให้ชื่อลายว่า ลายจี้เพชร”

นายทวี กล่าวอีกว่า กลุ่มได้รับการสนับสนุนจาก สสว. ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติขอนแก่น และกรมหม่อนไหม ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยเฉพาะ ทำให้ผู้ประกอบการมองทุกประเด็นปัญหาแบบ 360 องศา มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจน มองปัญหาจากอดีต ความจริงในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต เพื่อหาแนวทางสร้างความมั่นคง ยั่งยืน รวมถึงมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญเมื่อผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ชนบท ได้รับการจดทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ยิ่งทำให้คนในชุมชน ได้รับโอกาสสร้างงาน สร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่มีคุณภาพยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และนักท่องเที่ยวที่จะมีจำนวนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ด้านนางเกศินี พวงประดิษฐ์ พาณิชย์จังหวัดสกลนคร เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นว่า สินค้า GI ของภาคอีสานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสินค้า GI เป็นสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาว่าเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์ และมีคุณภาพสูงตามเกณฑ์ประเมินการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งสินค้า GI เหล่านี้มีความพร้อมเข้าสู่ตลาดทั้งในระดับประเทศ และต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จึงมอบหมายให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดสกลนครและกลุ่มสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คัดสรรสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI และมีศักยภาพทางการตลาดเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และประชาสัมพันธ์สร้างโอกาสทางการค้า ผ่านสื่อทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้สินค้า GI อีสานได้มีโอกาสเติบโตทั้งในประเทศและสู่สากล