ข่าวอัพเดทรายวัน

ลูกค้าซบเซา แม่ค้าขายข้าวโพด บดสับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หารายได้เพิ่มอีกช่องทาง

ผลกระทบโควิด-19 ระบาด ขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ บรรดาพ่อค้า แม่ค้า และชาวสวนข้าวโพด ที่อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ เดือดร้อนหนัก ขายข้าวโพดไม่ได้ ผลผลิตตกค้างในสวนและร้านจำหน่ายเป็นจำนวนมาก รายได้หายไปวันละ 3,000 บาท และฝักข้าวโพดแก่เสียหาย ต้องนำมาบดเป็นอาหารให้วัวกินแทนหญ้า เรียกร้องส่วนราชการ เข้ามาดูแลด้านการตลาดและการแปรรูป

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลได้กำหนดมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ปิดสถานประกอบการต่างๆ และแหล่งชุมนุมอื่นๆ โดยลดการรวมกลุ่มของประชาชน จำกัดการเดินทาง การเคลื่อนย้ายบุคคล และล่าสุดประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือเคอร์ฟิว ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การคมนาคมขนส่ง และสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนแล้ว ยังขยายวงกว้างครอบคลุมถึงบรรดาพ่อค้า แม่ค้า  และชาวสวนข้าวโพดอีกด้วย

นางพิมพรรณ สนทอง อายุ 50 ปี บ้านเลขที่ 128  แม่ค้าขายข้าวโพด บ้านชัยศรี หมู่ 3 ต.คำใหญ่ อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ตนและพ่อค้า แม่ค้า รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดหลายครอบครัว ที่ปลูกข้าวโพดเพื่อจำหน่ายตลอดปี โดยตั้งร้านขายข้าวโพดทั้งต้มสุกและฝักดิบ ริมถนนสายอำเภอห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์-กระนวน จ.ขอนแก่น และขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง รวมทั้งตามตลาดนัดชุมชนทั่วไป โดยปลูกเพื่อการค้า และเป็นผลิตภัณฑ์ของดี ต.คำใหญ่มานานกว่า 20 ปี  ทั้งนี้ เฉพาะข้าวโพดต้มสุก เฉลี่ยเคยขายได้วันละประมาณ 100-200 ก.ก.รายได้วันละประมาณ 2,000-3,000 บาท  แต่เพิ่งจะมาซบเซาในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่บรรยากาศการค้าขายฝืดเคืองเป็นอย่างมาก สูงสุดขายได้เพียงวันละ 50 ก.ก.เท่านั้น

นางพิมพรรณ กล่าวอีกว่า ผลผลิตข้าวโพดรุ่นนี้ เริ่มทยอยออกสู่ตลาดช่วงต้นเดือน เม.ย.ถึงเทศกาลสงกรานต์ พ่อค้า แม่ค้าทุกคนต่างตั้งเป้ามีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 3,000-5,000 บาท เหมือนทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะมีคนสัญจรผ่านเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก แต่หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลประกาศเคอร์ฟิวดังกล่าว ผลผลิตข้าวโพดจึงเหลืออยู่เต็มสวน เพราะขายไม่ได้ ไม่มีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อ ทำให้ฝักข้าวโพดเริ่มแก่ ขณะที่ฝักที่นำมาต้มขายก็ขายแทบไม่ได้ เพราะลูกค้าที่สัญจรไปมาลดจำนวนน้อยลง และไม่จอดซื้อเหมือแต่ก่อน เนื่องจากกลัวโรคโควิด-19 และต้องประหยัดรายจ่าย เนื่องจากไม่รู้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือกลับมาสู่ภาวะปกติเมื่อใด

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้บรรดาพ่อค้า แม่ค้า และชาวสวนข้าวโพดเดือดร้อน เพราะผลผลิตเสียหาย หลายคนทิ้งร้านหนี ไม่มาขายอีก เพราะขายไม่ได้ และเมื่อขายไม่ได้ ก็จำเป็นต้องตัดทั้งลำต้นและฝักมาเข้าเครื่องบด เพื่อเป็นอาหารให้วัวกินแทนหญ้า อย่างไรก็ตาม อยากเรียกร้องให้ส่วนราชการ เข้ามาดูแลด้านการตลาดและการแปรรูปข้าวโพดด้วย เพราะช่วงนี้ข้าวโพดล้นตลาดและเกิดความเสียหายดังกล่าว