ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลกระทบหนัก หลังพิษโควิด-19 ทำยอดขายปลาสดชะงัก มีปลาค้างส่งตลาดเป็นร้อยตัน

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังกระทบหนัก หลังพิษโควิด-19  สั่งงดสงกรานต์  ทำยอดขายปลาสดชะงัก  มีปลานิลค้างส่งตลาดเป็นร้อยตัน  ด้านประมงอำเภอสหัสขันธ์  จังหวัดกาฬสินธุ์ เปิดโครงการจำหน่ายปลาราคาถูกช่วยเหลือเกษตรกร  จำหน่ายราคาทุน กก.ละ 50 บาท

วันที่ 13 เม.ย. 63  ที่ศาลาประชาคมบ้านบะเอียด  หมู่ 9 ต.นาบอน อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์  นางสาวกฤษณา  เขามีทอง  ประมงอำเภอสหัสขันธ์  ดูแลพื้นที่ อ.คำม่วง และอ.สหัสขันธ์   ได้นำปลานิลสดจากกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังพื้นที่อ.สหัสขันธ์ บริเวณสะพานเทพสุดา ออกจำหน่ายให้กับชาวบ้าน  หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชังได้รับผลกระทบจากปัญหาโรคโควิด -19  มีปลาค้างส่งตลาดมากกว่า 200 ตัน    โดยได้ออกจำหน่ายในพื้นที่อ.คำม่วง จำหน่ายปลานิลในราคา  กก.ละ 50 บาท  ที่ได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก เลือกซื้อปลาไปไว้กินในครัวเรือน  รวมถึงการนำไปแปรรูปปลาแดดเดียว  เพื่อเก็บไว้รับประทาน  ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้าซื้อปลาจะต้องต่อคิวล้างมือด้วยแอลกอฮอล์  ตรวจวัดไข้ก่อน ถึงจะเข้าไปซื้อปลาได้  ซึ่งประชาชนได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

นางสาวกฤษณา  เขามีทอง  ประมงอำเภอสหัสขันธ์ กล่าวว่า  ในเขื่อนลำปาวเป็นจุดเลี้ยงปลานิลในกระชังจำนวนมากและถือว่ามากที่สุดในประเทศไทย  มีปลานิลสดจำนวนมากของเกษตรกร  เฉพาะกลุ่มผู้เลี้ยงในการดูแลของเครือข่ายประมงอำเภอสหัสขันธ์ กลุ่ม 1 มีกว่า 30 ราย มากกว่า 500 กระชัง เดิมที่ปลาชุดนี้ที่มีอายุ 4-5 เดือน จะได้จำหน่ายในช่วงเทศกาลสงกรานต์พอดี  แต่ด้วยปัญหาโควิด-19  ทำให้ตลาดปลาชะงัก  มีผู้ซื้ออกมาซื้อปลาน้อยลง  ร้านอาหารสั่งลดจำนวนลง  ทำให้มีปลาค้างกระชัง ไม่ได้ส่งเข้าตลาดจำนวนมาก  ทั้งนี้เพื่อการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง  จึงได้จัดโครงการจำหน่ายปลานิล  จากเกษตรกรถึงผู้ซื้อโดยตรงในราคา กก.ละ 50 บาท ซึ่งเป็นราคาทุน  ถือว่าลดภาวะเสี่ยงการขาดทุนลงได้  โดยวันแรกที่เริ่มโครงการ สามารถจำหน่ายปลาได้ 1,500  กิโลกรัม ในพื้นที่อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์

นางเจตนา   ดวงจันทร์ทิพย์  อายุ 42  ปี  ตัวแทนเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาในกระชัง  กล่าวว่า  มีปลานิลที่ยังไม่ได้ส่งตลาดอยู่จำนวนมาก  ซึ่งหากไม่ออกจำหน่ายช่วงนี้จะเกิดปัญหา และกลายเป็นภาระของเกษตรกร ที่ต้องเลี้ยงปลาไปอีกนาน เพิ่มต้นทุนในการเลี้ยงปลาไปอีก  ทั้งนี้การจำหน่ายในราคา กิโลกรัมละ 50 บาท  นอกเหนือจากจะช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ยังเป็นการช่วยประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้รับประทานปลาสด ๆ  คุณภาพดี  ในราคาถูก ๆ ในช่วงที่ทุกๆ คนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ทั้งนี้นอกเหนือจากปลาสดที่จะนำไปประกอบอาหารรับประทานในครัวเรือนแล้ว  ขอแนะนำให้ทำการแปรรูปเป็นปลาแดดเดียว ที่สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานอีกหนึ่งเมนูด้วย