ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรส่งเสริมสืบสานอนุรักษ์หนังประโมทัย

องค์การบริหารส่วนตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จัดโครงการส่งเสริมสืบสานและอนุรักษ์หนังประโมทัย เพื่อกระตุ้นให้มีการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างอาชีพและรายได้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเข้ามามีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาความเป็นไทย อันจะสร้างความภูมิใจและจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสืบไป

วันที่ 3 สิงหาคม 2565 เวลา 09.00 น.ที่พิพิธภัณฑ์หนังประโมทัย ตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร นายเดชศักดิ์ คานทอง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนทัน เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมนักเรียนตามโครงการส่งเสริมสืบสานอนุรักษ์หนังประโมทัย ประจำปี 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้มีการนำทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างอาชีพและรายได้ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ และเข้ามามีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสืบสานภูมิปัญญาความเป็นไทย อันจะสร้างความภูมิใจและจิตสำนึกในการรักษาวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นสืบไป ซึ่งการฝึกอบรมในครั้งนี้มีเด็กนักเรียนจาก โรงเรียนโพนทันเจริญวิทย์, โรงเรียนบ้านโพนทัน และโรงเรียนบ้านสำโรง พร้อมคณะครูเข้าร่วมฝึกอบรม และมีวิทยากรจากตัวแทนคณะหนังประโมทัย คณะเพชรโพนทัน และคณะรุ่งเรืองเสียงทอง ให้เกียรติเป็นวิทยากรและถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งกิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย การจัดอบรมเยาวชน นักเรียน เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมการแสดงหนังประโมทัย การสาธิตและฝึกหัดการทำตัวหนังและการแสดงโชว์การเชิดหนังประโมทัยของคณะหนังประโมทัย คณะเพชรโพนทัน ซึ่งเป็นคณะหนังประโมทัยที่มีชื่อเสียงในตำบลโพนทัน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร

หนังประโมทัยอีสาน คือ หนังตะลุงของภาคอีสานมีชื่อเรียกต่างๆกันไปหลายชื่อ เช่น หนังปราโมทัย หนังประโมทัย หนังบักตื้อ หรือหนังบักป่องบักแก้ว ซึ่งสองชื่อหลังมาจากชื่อตัวตลกการแสดงหนังประโมทัย เกิดจากการแผ่ขยายวัฒนธรรมหนังตะลุงของภาคใต้มายังภาคอีสานโดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงจนเป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่นั้น คือ การนำหมอลำกับหนังตะลุงมารวมกัน องค์ประกอบของการแสดงหนังประโมทัยที่สำคัญ คือ ผู้เชิดตัวหนังโรงและจอหนัง บทพากย์บทเจรจา ดนตรีประกอบ ตลอดจนแสงเสียงที่ใช้ในการแสดง โดยจะนิยมแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ แต่ต่อมาได้มีการนำวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานมาแสดงด้วย เช่น หมอลำเพลิน และหมอลำซิ่ง