ข่าวอัพเดทรายวัน

เครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 16 สิงหาคม 2565 ที่ ศาลาประชาคมจังหวัดขอนแก่น กองสาธารณสุของค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น โดยความร่วมมือด้านวิชาการกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่10 จัดประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการปัญหามลพิษตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปีงบประมาณ 2565 โดยนายประสิทธิ์ ทองแท่งไทย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ได้บรรยายพิเศษ การมอบนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันด้านบังคับใช้กฎหมายของกรมควบคุมมลพิษ โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มเป้าหมายในการขับเคลื่อนการจัดการปัญหามลพิษตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสิ้น 60 คนร่วมประชุม

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพอากาศ น้ำเสีย ยังคงทรงตัวหากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ก็ถือว่าดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ยังมีขยะพลาสติกที่มีปริมาณมากขึ้น ปัจจุบันรัฐบาลโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ก็ได้เห็นชอบให้จัดทำแผนปฏิบัติจัดการขยะในระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2565-2570 เป็นแผนพิเศษที่ครอบคลุมการบริหารจัดการพิเศษชุมชน โดยมีเป้าหมายลดปริมาณขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกได้กว่าร้อย 50 ภายในปี 2570 ส่วนกระบวนการในการจัดเก็บคัดแยกขยะ และการจำกัดขยะที่ถูกต้อง รัฐบาลมีนโยบายที่จะสร้างโรงกำจัดขยะในอนาคต ให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้

“การประชุมครั้งนี้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาองค์ความรู้ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการแก้ไขปัญหามลพิษตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง และสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างเจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหามลพิษ ควบคุมและกำกับดูแลแหล่งกำเนิดมลพิษ และกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพในพื้นที่ พร้อมทั้งขับเคลื่อนเครือข่ายหน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น”

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวอีกว่า สำหรับโครงการนี้ เกิดขึ้นมาหลังจากที่กรมควบคุมมลพิษได้มีการเซ็น MOU ร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีการขยายผลร่วมกันทำงานกับท้องถิ่นทั่วประเทศทั้งหมด 7,850 ท้องถิ่นที่เราจะต้องเชื่อมโยงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านมลพิษ เพราะบางท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมในเรื่องของความรู้ความเข้าใจ แนวทางการแก้ไขปัญหา และความรู้เรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย เพราะว่าถ้าเราไม่บังคับใช้กฎหมายผู้ประกอบการหรือแหล่งกำเนิดต่างๆที่ก่อให้เกิดมลพิษก็มักจะไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งพี่น้องประชาชนก็ได้รับผลกระทบหลายๆพื้นที่ เป็นเวลายาวนานและก็ยากต่อการที่จะฟื้นฟูในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้เองจึงเป็นโครงการที่ดีเชื่อมโยงความเข้าใจในเรื่องของการทำงานและในเรื่องของการแก้ไขปัญหามลพิษด้วย