ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรฝึกซ้อมศูนย์บัญชาเหตุการณ์เตรียมรับอุทกภัย

จังหวัดยโสธรมีการฝึกซ้อมศูนย์บัญชาเหตุการณ์จังหวัดกรณีอุทกภัยในรูปแบบการฝึกซ้อมบนโต๊ะ เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเตรียมรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่

วันที่ 16 ส.ค.2565 ที่ห้องประชุมข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยโสธร นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร เป็นประธานในพิธีเปิดการฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดยโสธร กรณีอุทกภัย ในรูปแบบการฝึกซ้อมบนโต๊ะ (Table Top Exercise : TTX) เพื่อซักซ้อมการปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุอุทกภัยระดับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประซาชน องค์กร มูลนิธิ ภายใต้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ให้สามารถป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามนโยบายของรัฐบาล และข้อสั่งการของกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเตรียมการรองรับสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในพื้นที่ โดยใช้แนวทางการฝึกฯที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางกำหนด ซึ่งเป็นการฝึกร่วมระหว่างศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามโซนลุ่มน้ำในพื้นที่ ได้แก่ สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่โซนลุ่มน้ำชี จำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอค้อวัง และอปท.ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย และสถานการณ์อุทกภัยในโซนพื้นที่ลุ่มน้ำโพงและเซบาย จำนวน 5 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอทรายมูล,กุดชุม,ไทยเจริญ,เลิงนกทา,ป่าติ้ว และอปท.ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย

นายสุวัฒน์ เข็มเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยของจังหวัดยโสธรที่ผ่านมา พบว่าเหตุการณ์แต่ละครั้งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง เช่น อุทกภัย ปี 2560 และอุทกภัย ปี 2562 จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด / อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องรับทราบและเข้าใจบทบาทหน้าที่ ตั้งแต่ก่อนเกิดภัย ขณะเกิดภัย และหลังเกิดภัย ได้แก่ระยะที่ 1 ก่อนเกิดภัย เป็นการเตรียมความพร้อมโดยมีการประเมินความเสี่ยง :วิเคราะห์สถานการณ์ ผลกระทบเชิงพื้นที่ จัดทำแผนที่ระบุพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ การแจ้งเตือนซึ่งต้องติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์ ดำเนินการแจ้งเตือน โดยวิเคราะห์จากแนวโน้มสถานการณ์ความรุนแรง หากรุนแรงก็ต้องสั่งดำเนินการอพยพ ซึ่งต้องรายงานให้ทราบถึงสถานการณ์การดำเนินการต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย ระยะที่ 2 เมื่อเกิดภัย ต้องดำเนินการ รวบรวม ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นสาธารณภัยระดับใด เพื่อดำเนินการจัดการตามระดับ การสั่งการ การปฏิบัติเข้าระงับเหตุตามแผนปฏิบัติการของอำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประเมินข้อบ่งชี้ถึงสถานการณ์ที่จะยกระดับความรุนแรงของภัย รวมไปถึงการออกประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย การออกประกาศเขตให้ความช่วยเหลือฯการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อำเภอ / จังหวัด การควบคุม สั่งการ การบัญชาการในการเผชิญเหตุ ระยะที่ 3 เมื่อภัยยุติ ซึ่งต้องดำเนินการประสานหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือตามบทบาทหน้าที่ รวมถึงมูลนิธิ องค์กรภาคเอกชน ออกประกาศเขตให้ความช่วยเหลือฯ กรณียังไม่ได้มีการประกาศ การขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือ การสำรวจความเสียหาย การดำเนินการตามกระบวนการของระเบียบกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมลดความสูญเสีย และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพี่น้องประชาชน โดยต้องปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุ แต่ละระดับได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในเรื่อง เครื่องมือ อุปกรณ์ ช่องทางการติดต่อสื่อสาร และช่องทางการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานสนับสนุนต่างๆ การฝึกศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ในครั้งนี้ จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่แต่ละหน่วยงานที่มีภารกิจ การแจ้งเตือน การเผชิญเหตุ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย จะรับทราบถึงขั้นตอนการประสานการปฏิบัติ การระดมสรรพกำลัง การประเมินขีดความสามารถของหน่วยงาน และบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน การร้องขอการสนับสนุน การเผชิญเหตุสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นรวมทั้งการใช้ช่องทางการฝึกซ้อมนี้ เป็นเครือข่ายในการแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยตามลุ่มน้ำ ทั้ง 3 ลุ่มน้ำ ท้องถิ่นต่อท้องถิ่น ตำบลต่อตำบล และอำเภอที่อยู่ข้างเคียงกัน