ข่าวอัพเดทรายวัน

ยโสธรขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจบีซีจี

ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขาฯ คนใหม่ รมว.การอุดมศึกษาฯ ลุยงาน U2T for BCG ลงพื้นที่ จังหวัดยโสธร ย้ำนายกฯ ให้ความสำคัญโครงการ U2T for BCG เตรียมจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวของดี 9 ตำบลทั่วประเทศ ผลิตภัณฑ์ BCG 1.5 หมื่นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดพร้อมจำหน่าย ด้าน 2 มรภ. 1 วิทยาลัยชุมชน ลุย U2T for BCG ยโสธร ศรีสะเกษ อุบลฯ ปลื้มสร้างรายได้ชุมชน

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2565 ดร.ดนุช ตันเทอดทิตย์ เลขานุการ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากด้วยเศรษฐกิจ BCG หรือ U2T for BCG ที่วิทยาลัยชุมชนยโสธร (วชช.ยโสธร) โดยมีนายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัดยโสธร จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดอุบลราชธานี และผู้นำพื้นที่ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ รศ.ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสะเกษ (มรภ.ศรีสะเกษ) ได้นำเสนอความคืบหน้าของโครงการ U2T for BCG ว่า มรภ.ศรีสะเกษ รับผิดชอบ 200 ตำบล แบ่งเป็นพื้นที่ศรีสะเกษ 171 ตำบล ยโสธร 29 ตำบล รวมเป็น 200 ตำบล มีผู้เข้าร่วมโครงการ U2T for BCG จำนวน 1,980 คน ดำเนินการใน 4 เรื่อง คือด้านเกษตรและอาหาร สัดส่วน 40% ด้านสุขภาพและการแพทย์สัดส่วน 12% ด้านพลังงานและวัสดุ 42% และด้านการท่องเที่ยวและบริการ 6% โดยทำเรื่อง BCG อย่างเข้มข้น ขณะนี้กำลังอยู่ในกระบวนการคัดเลือกตำบลที่ดำเนินการด้าน BCG ดีเด่น เพื่อส่งให้ อว. ใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

จากนั้น รศ.ดร.ภาสกร นันทพานิช รองอธิการบดี มรภ.อุบลราชธานี กล่าวว่า มรภ.อุบลราชธานี รับผิดชอบ 3 จังหวัด คือ อุบลราชธานี อำนาจเจริญและยโสธร ในยโสธรรับผิดชอบ 29 ตำบล โครงการ U2T for BCG ก่อให้เกิดรายได้ในพื้นที่ต่อเดือนประมาณ 20 ล้านบาท จากการจับจ่ายใช้สอยของผู้เข้าร่วมโครงการ รวมทั้งก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านอื่นอีกมากมาย ซึ่งผลประโยชน์จะไปตกอยู่กับชุมชน ในพื้นที่มีการดำเนินการด้านเกษตร ด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอาหาร ด้านสมุนไพรและการจัดการขยะ เป็นต้น

ขณะที่นายวสันต์ สุวรรณเนตร รักษาการในตำแหน่ง ผอ.วชช.ยโสธร กล่าวว่า วชช.ยโสธรรับผิดชอบใน 27 ตำบลของยโสธร โดยขณะนี้ได้เก็บข้อมูล Thailand community Data (TCD) หรือฐานข้อมูลรายตำบลขนาดใหญ่ได้กว่า 8,000 ตัวอย่าง จากเป้าหมาย 13,000 ตัวอย่าง มีทั้งเรื่องของพืช สัตว์เศรษฐกิจ อาหาร แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้กับประเทศต่อไป

จากนั้น ดร.ดนุชฯ ได้มอบนโยบายและแนวการการบริหารจัดการโครงการ U2T for BCG ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับโครงการ U2T for BCG มาก และมีแผนที่จะลงพื้นที่ไปเยี่ยมชมโครงการ U2T for BCG ในแต่ละภาค ซึ่งจากการที่ตนลงพื้นที่พบว่าในแต่ละตำบลมีของดีซ่อนอยู่มากมาย เช่น สิมโบราณ บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปโบราณ รวมทั้งเส้นทางท่องเที่ยว ซึ่งจากนี้ไป U2T for BCG จะมีการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวของดี 9 ตำบลเหมือนกับการท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัด ซึ่งการที่ผู้เข้าร่วมโครงการได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล TCD ทำให้เราได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อการขับเคลื่อนประเทศอย่างทันสมัย ขณะที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน BCG เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้วคาดว่าจะมีผลิตภัณฑ์ที่นำออกสู่ตลาดพร้อมจำหน่ายได้ถึง 1.5 หมื่นผลิตภัณฑ์