ข่าวอัพเดทรายวัน

จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดประชุมคณะทำงานโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ครั้งที่ 2/2565

วันที่ 19 ส.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมฟ้าแดงสงยาง ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานการประชุมคณะทำงานโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีนายสุวิทย์ คำดี ที่ปรึกษาประธานสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ นายธวัชชัย รอดงาม รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายพงษ์ศักดิ์ ชินคีรี เกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอำเภอ เกษตรอำเภอ ทั้ง 9 อำเภอ เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้มีการติดตามความก้าวหน้าของโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจังหวัดกาฬสินธุ์ โดยสังเขป ประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ แนวทางการดำเนินโครงการฯ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอเป้าหมาย 9 อำเภอ การจัดทำแปลงต้นแบบการปลูกข้าวโพดต้นฝน เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรได้ศึกษาเรียนรู้ ก่อนลงมือปลูกหลังฤดูทำนา การวางแผนการดำเนินโครงการและการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อให้บริการเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ

ตามที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ริเริ่มทำโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ โดยร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในยุควิกฤตเศรษฐกิจและได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่ทันสมัยได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมกับการช่วยชาติลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากผลกระทบจากวิกฤตต่างๆ โดยนายกฤษฎา  บุญราช ประธานคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ และคณะได้ลงพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อชี้แจงประชาสัมพันธ์โครงการ และจัดกิจกรรมแปลงสาธิตโครงการต้นแบบการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้แก่เกษตร ที่บ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกร สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ได้เชิญชวนภาคเอกชน ที่จำหน่ายอาหารสัตว์อยู่แล้วเข้ามาทำสัญญาในการรับซื้อจากเกษตรกร ซึ่งเป็นแนวทางของ “การตลาดนำการผลิต” ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สำหรับเกษตรกรที่สมัราเข้าร่วมโครงการฯ จะมีความมั่นใจว่าเมื่อทางราชการและสถาบันปิดทองหลังพระ มาสนับสนุน จะทำให้มีแหล่งรับซื้อได้ชัดเจน ได้รับทราบราคากลาง ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจที่จะปลูกพืชต่าง ๆ ภายใต้การส่งเสริมจากภาครัฐและสถาบัน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งได้ตั้งเป้าไว้ กว่า 5,000 ไร่ ใน 9 อำเภอของจังหวัดกาฬสินธุ์