ข่าวอัพเดทรายวัน

ส.ว. ลุยฝนพบประชาชนชาวนครพนม รับฟังปัญหาและติดตามความคุ้มค่าโครงการแก้ปัญหาภัยแล้ง

วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ที่จังหวัดนครพนม พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา เป็นหัวหน้าคณะนำสมาชิกวุฒิสภาลงพื้นที่รับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และติดตามผลการดำเนินงานของโครงการฝายห้วยคูณ(ตอนบน) บ้านหนองแวง ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านแพง ซึ่งเป็นโครงการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกประมาณ 500 ไร่ ทั้งเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการก่อสร้างระบบท่อ /คลองส่งน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ประมาณ 250 ครัวเรือน 950 คน ได้มีน้ำใช้ในอนาคตจากการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 90,000 ลูกบาศก์เมตร ที่กำลังจะมีการโอนภารกิจของโครงการก่อสร้างทั้งหมดให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง และโครงการฝายห้วยตับแฮด บ้านโพน ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน ซึ่งเป็นโครงการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้กับประชาชนประมาณ 150 ครัวเรือน 550 คน ที่มีการทำการเกษตร เพาะปลูกประมาณ 300 ไร่ในฤดูฝน และ 70 ไร่ในฤดูแล้ง ทั้งยังใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและทดน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรจากการเก็บกักน้ำได้ประมาณ 90,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งกำลังจะมีการถ่ายโอนภารกิจของโครงการก่อสร้างให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล ตามโครงการสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนในพื้นที่จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ท่ามกลางบรรยากาศสายฝนที่โปรยปรายระหว่างลงพื้นที่ โดยมีคณะหัวหน้าส่วนราชการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับและให้ข้อมูล

โดยในโอกาสนี้ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชม และให้กำลังใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรด GI หมู่ที่ 4 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตสับปะรดที่มีคุณสมบัติโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยมีรสหวานฉ่ำ กลิ่นหอม ไม่กัดลิ้นและตาตื้น ทั้งยังได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นสินค้าเกษตรที่ใคร ๆ ก็อยากได้มารับประทาน โดยปัจจุบันกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ มักจะมีปัญหาการขาดแคลนน้ำในการผลิตช่วงฤดูแล้ง ซึ่งถ้าในช่วงดังกล่าวขาดแคลนน้ำจะส่งผลต่อรสชาติสับปะรดทำให้มีรสเปรี้ยว จำหน่ายได้ลำบากมากยิ่งขึ้น

พลโท จเรศักณิ์ อานุภาพ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ในการลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้สะท้อนประเด็นปัญหาในพื้นที่ทุกเรื่อง เพื่อที่จะได้ร่วมกันแก้ไขให้หมดไป ซึ่งถ้าเรื่องไหนในระดับพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ หรือจังหวัดสามารถแก้ไขได้ก็จะมีการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้ แต่ถ้าในระดับพื้นที่ไม่สามารถแก้ไขได้ทางวุฒิสภาก็จะนำเรื่องดังกล่าวไปเสนอต่อในระดับกระทรวง ทบวง กรม เพื่อหาทางแก้ไขให้ประชาชนให้ได้เร็วที่สุด โดยการสะท้อนปัญหาในครั้งนี้มีทั้งแบบที่ให้เขียนใส่กระดาษ สำหรับคนที่ไม่ต้องการแสดงตัวตน และการพูดเสนอในเวทีได้ตามความถนัดของแต่ละคน ส่วนการติดตามผลการดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำให้กับประชาชนนั้น ก็เพื่อรับฟังเสียงจากประชาชนว่าที่รัฐบาลจัดสรรงบประมาณมาแก้ไขปัญหาแล้วมีความคุ้มค่ากับการลงทุนไปหรือไม่ พี่น้องประชาชนได้รับผลประโยชน์มากน้อยขนาดไหน และมีส่วนใดที่อยากให้แก้ไขเพิ่มเติม