ข่าวอัพเดทรายวัน

บุรีรัมย์ ผอ.ชลประทานที่ 8 ลุยตรวจอาคารระบายและสันอ่างลำตะโคงขาดมวลน้ำทะลักเร่งซ่อมให้เสร็จใน 3 วัน

ผอ.ชลประทานที่ 8 ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารระบายน้ำและสันอ่างลำตะโคงจ.บุรีรัมย์ ที่ถูกน้ำเซาะขาดกว่า 10 เมตร ทำมวลน้ำทะลักออกจำนวนมาก ระดมเครื่องจักร กำลังคน ถุงลวดตาข่าย บิ๊กแบ็คกว่า 2 พันลูกเร่งปิดจุดชำรุดและทำทำนบชั่วคราว เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้หน้าแล้งคาด 3 วันเสร็จ ส่วนน้ำที่ทะลักออกยังไม่ท่วมบ้านเรือน มีเพียงนาข้าวและคอกสัตว์

เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (27 ส.ค.65) นายเกรียงไกร ภาคพิเศษ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ ธิมา ผู้อำนวยการโครงการชลประทานจ.บุรีรัมย์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคารระบายน้ำล้นอ่างเก็บน้ำลำตะโคง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ ที่ถูกน้ำกัดเซาะพังเสียหาย รวมถึงบริเวณสันอ่างที่ถูกน้ำเซาะขาดยาวกว่า 10 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร ทำให้น้ำในอ่างที่มีมากกว่า 10 ล้านลูกบาศก์เมตรซึ่งเกินระดับกักเก็บ ได้ไหลทะลักออกตรงบริเวณที่สันอ่างขาดอย่างรวดเร็วและเชี่ยวแรง ไปตามลำน้ำก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำมูล

ผอ.สำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่ามวลน้ำที่ไหลทะลักออกจากอ่าง ยังไม่ได้ส่งผลกระทบกับบ้านเรือนราษฎรแต่อย่างใด มีเพียงคอกสัตว์ และนาข้าวของเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำถูกน้ำท่วมไปแล้วบางส่วนเท่านั้น ซึ่งก็จะได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจช่วยเหลือตามระเบียบหลักเกณฑ์ต่อไป
ส่วนการดำเนินการซ่อมแซมหรือแก้ไขจุดที่ชำรุดทำให้น้ำทะลัก ก็ได้ระดมทั้งเครื่องจักรและกำลังคนเร่งทำการติดตั้งเสาเหล็กเข็มพืด ชีทไพล์ลงไปยังจุดสันอ่างที่ขาด เพื่อวางกล่องเกเบี้ยนหรือกล่องลวดตาข่ายบรรจุหินกว่า 1,000 กล่อง พร้อมทั้งถุงบิ๊กแบ็คบรรจุหินและทรายอีกกว่า 1,000 ลูก เพื่อทำเป็นทำนบกั้นน้ำชั่วคราว ไม่ให้น้ำไหลทะลักออกจากอ่างมากกว่านี้ ซึ่งคาดว่าจะทำการแก้ไขจุดชำรุดเสียหายให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันเพื่อลดผลกระทบ จากนั้นจะได้เร่งซ่อมแซมอาคารระบายน้ำ และสันอ่างที่ขาด เพื่อกักเก็กน้ำไว้ให้ประชาชนใช้อุปโภคบริโภคและทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งด้วย

ส่วนสาเหตุที่ทำให้อาคารระบายน้ำพังและสันอ่างฯขาดนั้น เนื่องจากปีนี้ปริมาณน้ำได้เกินระดับกักเก็บของอ่างฯ ไปแล้วถึง 3 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 และน้ำก็ไหลมาสมทบอย่างต่อเนื่องด้วย ประกอบกับอาคารระบายน้ำแห่งนี้สร้างตั้งแต่ปี 2520 ก็เกือบจะ 50 ปีแล้ว และทางกรมชลประทานก็ได้รับการถ่ายโอนมาจากกรมส่งเสริมการเกษตรอีกที จึงไม่ทราบว่าโครงสร้างเดิมเป็นอย่างไร แต่ก็มีการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องแต่บางจุดอยู่ใต้ผิวน้ำอาจจะมองเห็นไม่ทั้งหมด อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดปัญหาขึ้น ก็จะได้ให้ จนท.ที่เกี่ยวทำการตรวจสอบทั้งอาคารระบายน้ำ และสันอ่างอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นซ้ำอีก ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็จะได้หารือกับหลายภาคส่วนอีกครั้ง