ข่าวอัพเดทรายวัน

‘สสจ.นครพนม’ เปิดเวทีนำเสนอผลงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (R2R) ‘นวัตกรรม RDU และ งาน คบส.’

วันที่ 1 กันยายน 2565 ที่ห้องประชุมร่มฉัตร ชั้น 2 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมฯ โดยมีการนำเสนอประเภทผลงานวิชาการที่ส่งเข้าประกวด รวม 8 เนื้อหา ประกอบด้วย โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชธาตุพนม โรงพยาบาลปลาปาก โรงพยาบาลวังยาง โรงพยาบาลโพนสวรรค์ นำเสนอผลงาน RDU โรงพยาบาลเรณูนคร โรงพยาบาลท่าอุเทน โรงพยาบาลนาหว้า และ โรงพยาบาลศรีสงคราม นำเสนอผลงาน คบส.

นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลในโรงพยาบาล ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยหรืออาหารที่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายในชุมชนยังคงมีอยู่ ซึ่งพวกเราในฐานะเป็นผู้ทำงานด่านหน้าตรงนี้ จำเป็นจะต้องมีความรู้ทางวิชาการมาปรับประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนางานที่รับผิดชอบให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งวิธีการหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับในการพัฒนางานประจำ คือ การพัฒนางานประจำสู่การวิจัย ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรของจังหวัดเรา ทั้งในด้านการบริการและด้านวิชาการ โดยมีการสังเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น จากงานประจำที่ปฏิบัติพัฒนาต่อยอดเป็นงานวิจัย เพื่อนำผลที่ได้มาปรับปรุงและพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายพัฒนาระบบบริการการใช้ยาอย่างสมเหตุผล และการจัดการเชื้อดื้อยาในโรงพยาบาล เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนและผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัย ลดอัตราการป่วยและอัตราการตายจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ ลดค่าใช้จ่ายด้านยาและลดความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายตัวชี้วัดในปี ๒๕๖๕ โดยโรงพยาบาลทุกแห่งในจังหวัดนครพนมต้องผ่านเกณฑ์ RDU hospital, RDU pcu และ RDU community ระดับความสำเร็จขั้นที่ ๓ ซึ่งผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 ปีงบประมาณ 2565 พบว่าโรงพยาบาลในจังหวัดนครพนมสามารถผ่านเกณฑ์ ระดับความสำเร็จขั้นที่ 3 จำนวน 12 แห่ง คิดเป็น 100% โรงพยาบาลที่ผ่านเกณฑ์ระดับความสำเร็จขั้นที่ 4 จำนาน 8 โรงพยาบาล คิดเป็น 66.67% และผ่านเกณฑ์ระดับความสำเร็จขั้นที่ 5 จำนาน 3 โรงพยาบาล คิดเป็น 40%” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม

จากปัญหาการดำเนินงานปัญหาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ปี 2565 ยังพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานจากการส่งตรวจวิเคราะห์ ร้อยละ 6.2 อาหารที่ไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด คือ น้ำดื่มบรรจุถังพลาสติก /จ ลิตร ซึ่งผลิตจากแหล่งผลิตในจังหวัดที่พบเชื้อจุลินทรีย์เกินมาตรฐานและกรดด่างเกินมาตรฐาน อาหารสดพบสารฟอร์มาลินที่เป็นอันตราย ร้อยละ 2.05 ได้แก่ ปลาหมึกกรอบ สไบนาง น้ำมันทอดซ้ำเสื่อมสภาพ ร้อยละ 1.67 ได้แก่ น้ำมันทอดเกี๊ยวกรอบ และผลการสำรวจร้านค้า (เดือนสิงหาคม 2565) พบยาปฏิชีวนะและยาอันตราย 59 ร้าน ดังนั้น สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Best Practice) งานนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว RDU (รพ./รพ.สต.) และนวัตกรรมในงาน คบส. เพื่อให้โรงพยาบาลทุกแห่งได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ กลยุทธ์ในการขับเคลื่อนงาน RDU/คบส. ปี 2565 โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เภสัชกรผู้รับผิดชอบงาน และผู้รับผิดชอบงานจาก รพ.สต. จำนวน 40 คน มีโรงพยาบาลที่ส่งผลงานวิชาการร่วมนำเสนอจำนวน 8 แห่ง