ข่าวอัพเดทรายวัน

ผู้ว่าการฯ แบงค์ชาติ เผยเศรษฐกิจอีสานฟื้นแน่ หลังภาคการเกษตรยังเป็นสัดส่วนรายได้มากกว่าภูมิภาคต่างๆ ของไทย และราคาสินค้าการเกษตรก็ปรับตัวขึ้น

เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 5 ก.ย.65 ที่โรงแรมพูลแมนขอนแก่น ราชา ออคิด นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงานสัมมนา ประจำปี 2565 ในหัวข้อ “อีสานพร้อมปรับ รับกระแสเศรษฐกิจการเงินใหม่” ซึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้กำหนดจัดกิจกรรมขึ้น ท่ามกลางความสนใจจากนักเศรษฐศาสตร์และนักวิชาการทางการเงินเข้าร่วมสัมมนาอย่างพร้อมเพรียง โดยมีนายศรัณย์ ธำรงรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวต้อนรับ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน มี 2 กระแสที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอย่างแน่นอน คือกระแสของความยั่งยืน และสถานการณ์โลกร้อน โดยเฉพาะอีสานที่พึ่งพาภาคการเกษตร มีแรงงานการเกษตรกว่าร้อยละ 50 ส่วนอีกกระแสคือโลกเข้าสู่ยุคดิจิตอล ที่ประชาชนให้ความสนใจ ซึ่งมีทั้งเรื่องนวัตกรรมทางการเงิน การลงทุน ต้องการให้เห็นความสำคัญของกระแสดิจิตอล เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างโอกาสทางการค้า การลงทุน การวางแผนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมได้มากขึ้น ทั้งเรื่อง อีคอมเมอร์ส เรื่องการค้าขาย จับจ่ายผ่านระบบออนไลน์ การค้าขายต่างประเทศที่จะทำให้สะดวกขึ้น

“เป็นการตอกย้ำถึงอิทธิพลของทั้ง 2 กระแส ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในภาคอีสาน โดยจะนำเสนองานศึกษา ที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องปรับตัว รวมถึงวิเคราะห์ภาพอนาคตเศรษฐกิจการเงินภาคอีสาน และโอกาสในการยกระดับศักยภาพ โดยการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นทั้งผู้ประกอบการ ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางในการปรับตัวร่วมกัน ทั้งนี้ภายหลังหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แล้ว สิ่งที่ต้องการเห็นคือการฟื้นตัวของประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยว สำหรับอีสานพบว่ามีหลายปัจจัยทั้งบวกและลบ ที่จะช่วยให้เศรษฐกิจในอีสานฟื้นตัว ในแง่บวกอีสานถือว่าเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งช่วงหลังพบว่าราคาสินค้าภาคการเกษตรมีราคาสูงขึ้น”

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวต่ออีกว่า ขณะที่ภาคอื่นพบว่าเป็นเงินเฟ้อและเป็นต้นทุนสำหรับภาคอื่นๆ แต่สำหรับภาคอีสานราคาสินค้าภาคการเกษตรที่มีราคาแพงขึ้น จะช่วยพยุงเรื่องของรายได้ ซึ่งจะช่วยพยุงเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันภาคอีสานมีความเปราะบางมากกว่าพื้นที่อื่นในประเด็น หนี้ครัวเรือนเฉลี่ยสูง และมีรายได้ต่ำกว่าภาคอื่นอีกด้วย

” สำหรับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่จะมีผลในเดือนตุลาคมนี้ มองว่าจะมีผลต่อต้นทุนการลงทุนที่จะตามมา ร้อยละ 50 ของแรงงานการเกษตร นอกจากนี้การค้าปลีก ค้าส่ง ซึ่งเป็นอาชีพอิสระ ซึ่งการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำไม่ได้รับอานิสงค์มากนัก อย่างไรก็ดีขอนแก่น พบว่ามีความโดดเด่นของความร่วมมือระหว่างองค์กร ทั้งผู้ค้าขาย นักธุรกิจ ภาครัฐ และภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดี ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในเรื่องการปรับตัวเพื่อรับมือกับเศรษฐกิจที่อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ รวมทั้งแลกเปลี่ยนแนวทางการปรับตัวของธุรกิจในภูมิภาคในอนาคต”