ข่าวอัพเดทรายวัน

ป.ป.ช.ภาค 4 รายงานผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ป.ป.ช.ภาค 4 รายงานผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 สิงหาคม 2565 พบเรื่องร้องเรียนกว่า 2,100 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นคดีเกี่ยวกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง โดยจังหวัดที่มีเรื่องร้องเรียน 3 อันดับแรก คือ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และสกลนคร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 6 กันยายน 2565 ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น นายประทีป จูฑะศร รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภาค 4 ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 เปิดเผยรายงานผลการดำเนินงานด้านปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 สิงหาคม 2565 ว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 4 ได้มีการนำผลคดีสำคัญหรือเป็นที่สนใจของสังคมในเขตพื้นที่ภาค 4 หรือภาคอีสานตอนบน ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบและในการกำกับดูแล มาเผยแพร่ให้สาธารณชนทราบเพื่อประโยชน์ ในการป้องปรามการทุจริตและเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน ป.ป.ช. นั้น

“จากห้วงระยะเวลาดังกล่าว พบว่า เรื่องที่ ป.ป.ช. ภาค 4 ได้รับเรื่องและตรวจสอบเบื้องต้น มีอยู่ จำนวน 2,174 เรื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง รองลงมาคือ การเรียกรับเงินเป็นค่าตอบแทน แลกกับการบรรจุแต่งตั้งและออกใบอนุญาตต่างๆ และเรื่องการบริหารงานภายในองค์กร ตามลำดับ โดยจังหวัดที่มีเรื่องการร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตมากที่สุด คือ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 284 เรื่อง รองลงมาคือ ขอนแก่น จำนวน 275 เรื่อง และสกลนคร จำนวน 235 เรื่อง”

นายประทีป กล่าวอีกว่า จากการเข้าไปตรวจสอบของ ป.ป.ช. ภาค4 ในเรื่องที่เป็นปัญหาร้องเรียนมากที่สุดก็คือ การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่า การทุจริตเริ่มขึ้นตั้งแต่ขั้นตอนของการตั้งงบประมาณ โดยจะมีการตั้งงบประมาณเกินจริง สมมุติตั้งงบประมาณไว้ 1 ล้านบาท หากมีการแข่งขันประมูลราคากันตามความจริงก็ไม่เกิน 7 แสนบาท แต่ส่วนใหญ่ที่พบคือการตั้งงบประมาณเกินจริงไป 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเหล่านี้ทุกคนทราบดี แต่การเข้าไปดำเนินการของ ป.ป.ช. จะต้องยึดตามพยานหลักฐานเป็นหลัก ใช้ความรู้สึกไม่ได้ ซึ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ป.ป.ช. ได้มีการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา ทำให้ในห้วงปีที่ผ่านมา เรื่องร้องเรียนเหล่านี้ลดจำนวนลงจากหลักพันก็เหลือเพียงหลักร้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้จัดตั้งศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (Corruption Deterrence Center : CDC) ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการยับยั้งป้องปรามไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นในประเทศ เฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริตที่สามารถป้องปราม และลดการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพตามกลไกของกฎหมายที่ได้บัญญัติไว้ตามมาตรา 35 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 การส่งต่อการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริต ตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงาน ตลอดจนเพื่อให้เกิดระบบการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงการทุจริต ที่มีการบูรณาการข้อมูลจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำ สามารถนำไปใช้ในการระงับยับยั้งการทุจริตและการแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ประชาชนหรือภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตทุกภาคส่วนสามารถมีแจ้งเบาะแสการทุจริตไปยังศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติได้ทุกช่องทาง ทั้งช่องทางของสำนักงาน ป.ป.ช. ช่องทางของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคีเครือข่ายภาคประชาชน สื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งในประเทศและต่างประเทศ