ข่าวอัพเดทรายวัน

เกษตรจังหวัดนครพนม เตือนชาวนา!!เฝ้าระวังโรคขอบใบแห้ง และใบขีดสีส้มในนาข้าว หวั่นกระทบผลผลิตและรายได้เกษตรกร แนะป้องกันด้วยวิธีผสมผสาน

วันที่ 14 ก.ย.65 นางสาวกัญณฐา อภินนท์ธนา เกษตรจังหวัดนครพนม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 เวลา 09.30 น. จากการได้รับแจ้งข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ บ้านต้นผึ้ง ตำบลนาแก อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ซึ่งพบสาเหตุต้นข้าวในแปลงนามีปัญหาต้นข้าวใบแห้งตาย ในพื้นที่ จำนวน 20 ไร่ เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 10 ราย จึงรีบดำเนินการแจ้งข้อมูลไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอนาแก และได้มีการประสานมายังสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม เพื่อร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบและให้คำแนะนำรวมทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรในพื้นที่ โดยทางสำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม ได้มอบหมายให้นายภานุมาส สิงหะวาระ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ กลุ่มอารักขาพืช ลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอนาแกอย่างเร่งด่วน โดยจากการลงพื้นที่ตรวจสอบแปลงนาข้าวของเกษตรกร พบว่า เนื่องจากช่วงนี้มีฝนตกชุกและมีความชื้นในอากาศที่สูงเหมาะกับการระบาดของโรคดังกล่าว และมักเกิดในช่วงระยะแตกกอของต้นข้าว โดยสาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas oryzae pv. Oryzae สำหรับอาการของโรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้า แตกกอ จนถึงออกรวง มีลักษณะช้ำที่ขอบใบของใบล่าง ต่อมาประมาณ 7-10 วัน จุดช้ำนี้จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ขอบแผลมีลักษณะเป็นขอบลายหยัก ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว แผลอาจมีหยดน้ำสีครีมคล้ายยางสนกลมๆ ขนาดเล็กเท่าหัวเข็มหมุด หลุดไปตามน้ำหรือฝน ซึ่งจะทำให้โรคสามารถระบาดต่อไปได้ แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ บางครั้งขยายเข้าไปข้างในตามความกว้างของใบ ในบางกรณีที่เชื้อมีปริมาณสูงเข้าทำลายทำให้ท่อน้ำท่ออาหารอุดตัน ต้นข้าวทั้งต้นจะเหี่ยวเฉาและตายโดยรวดเร็ว เรียกอาการของโรคนี้ว่า ครีเสก

สำหรับโรคใบสีส้ม เกิดจากเชื้อไวรัส Rice Tungro Bacilliform Virus (RTBV) และ Rice Tungro Spherical Virus (RTSV) มีสาเหตุมาจากไวรัส 2 ชนิดคือ ชนิดอนุภาครูปทรงกลม (RTSV) และชนิดอานุภาครูปท่อนปลายมน (RTBV) โดยมีเพลี้ยจักจั่นสีเขียวเป็นแมลงพาหะ สามารถเกิดได้ในทุกระยะของต้นข้าว ตั้งแต่ต้นกล้า แตกกอ ตั้งท้อง ออกรวง หากเกิดในระยะต้นกล้าจะทำให้ข้าวได้รับความเสียหายมาก เนื่องจากข้าวจะไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้ ต้นข้าวไม่สามารถหาอาหารได้ ทำให้ต้นกล้าชะงักและไม่เจริญเติบโต โดยหลังจากที่ต้นข้าวได้รับเชื้อ 15-20 วัน ข้าวจะเริ่มแสดงอาการของโรค ลักษณะที่จะเห็นได้ชัดคือ เริ่มแรกจะเห็นเป็นขีดช้ำยาวไปตามเส้นใบ ต่อมาใบของต้นข้าวจะเริ่มเหลือง และเป็นสีส้มตั้งแต่ปลายใบเข้าไปหาโคนใบ กาบใบและลำต้น หากได้รับเชื้อรุนแรงในระยะต้นกล้า ต้นกล้าสามารถตายลงได้ทั้งกอ แต่หากได้รับเชื้อในระยะตั้งท้องหรือออกรวง จะส่งผลให้ข้าวไม่ออกรวง ออกรวงเล็ก หรืออาจจะออกรวงแต่ช้ากว่าปกติ และนอกจากนี้ลำต้นของต้นข้าวก็จะมีลักษณะแคระแกร็น ลำต้นสั้นกว่าปกติ ทั้งนี้แผลของโรคหรือความรุนแรงที่ได้รับจากเชื้อ ขึ้นอยู่กับความต้านทานของพันธุ์ข้าวที่เราเลือกนำมาปลูกด้วยเช่นกัน

ลักษณะการแพร่ระบาด จะมีดังนี้ เพลี้ยจักจั่นสีเขียวอพยพเข้าแปลงข้าวทันทีหลังจากเป็นต้นกล้า มีปริมาณมากที่สุดในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบและลำต้นข้าว ทำให้ข้าวชะงักการเจริญเติบโตและอาจแห้งตายได้ถ้ามีปริมาณมาก ฤดูการปลูกข้าวหนึ่งครั้ง เพลี้ยจักจั่นสามารถดำรงชีวิตได้ 3 – 4 ชั่วอายุ ตัวเต็มวัยและตัวอ่อนจะแพร่กระจายออกไปไม่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม

การป้องกันกำจัดโรค สำหรับการป้องกันกำจัดโรคขอบใบแห้ง และใบขีดสีส้มในข้าว สำนักงานเกษตรจังหวัดนครพนม แนะนำให้เกษตรกรในพื้นที่ใช้หลักการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (IntegratedPest Management : IPM) ได้แก่ 1. วิธีกล (Mechanical control) เช่น การห่อผล การดักจับทำลายการใช้พลาสติก/ตองตึงคลุมแปลง กับดักเหยื่อล่อ/กาวเหนียว การใช้มุ้งตาข่าย 2. วิธีกายภาพ(Physical control) เช่น การใช้แดดในการตากเมล็ดพันธ์ การใช้รังสีกำจัดแมลงวันทองการใช้แสงไฟหลอดสีน้ำเงิน – ดำล่อแมลงศัตรู 3. วิธีเขตกรรม (Cultural control) เช่น การรวบรวมส่วนของพืชที่ถูกศัตรูพืชทำลายเผา การปลูกพืชสลับพืชหมุนเวียนการปลูกพืชหลายชนิดและหมุนเวียน 4. ใช้พันธุ์ต้านทาน (Pest Resistace control) เพื่อต้านทานโรคและแมลงต่างๆ 5. ชีววิธี (Biological control) วิธีการทางชีววิธีเป็นวิธีการใช้ศัตรูธรรมชาติให้ควบคุมศัตรูพืชโดยอาศัยหลักการสมดุลธรรมชาติวิธีการนี้ใช้ได้ผลในการควบคุมแมลงศัตรู โรคพืชและวัชพืชบางชนิด เช่น การใช้ตัวห้ำ (Predators) 6. ใช้สารสกัดธรรมชาติควบคุมศัตรูพืช(Plant Natural Extacts M. control) พืชสมุนไพรหลายชนิดมีคุณสมบัติควบคุม/กำจัด/ไล่แมลงศัตรูพืช และกำจัดโรคพืชได้ เช่น สะเดา ข่า เสี้ยน ขมิ้นชัน บอระเพ็ดสาบเสือ หนอนตายหยาก หางไหล (โล่ติ้น) ตะไคร้หอม ลูกตะโก ใบยูคาลิบตัส หัวไพรใบมะรุมฯลฯ ใช้กฎหมาย (Legal control) เช่นการกักกันพืช การนำเข้าศัตรูธรรมชาติ ประกาศกระทรวงฯ (พืช พาหะ เป็นสิ่งต้องห้าม) 8. ใช้สารเคมี ( Chemecal control) เป็นวิธีการสุดท้ายของการจัดการศัตรูพืชโดยวิธีผสมผสาน (Integrated Pest Management : IPM) เช่น การใช้สารกำจัดวัชพืช สารกำจัดแมลง สารป้องกันและกำจัดโรคพืช ฯลฯเพราะการใช้สารเคมีมีผลกระทบข้างเคียงทางลบมากมาย

นอกจากนี้ การป้องกันกำจัดโรคขอบใบแห้ง และใบขีดสีส้มในข้าว เกษตรกรยังสามารถทำได้โดยการใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทาน เช่น พันธุ์สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 และกข 23 ใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ม่า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับลำต้น ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากในดินที่อุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น ควรเฝ้าระวังการเกิดโรคโดยเฉพาะถ้าปลูกข้าวพันธุ์ที่อ่อนแอต่อโรคนี้ เช่น พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 กข 6 เหนียวสันป่าตอง พิษณุโลก 2 และถ้าจำเป็นต้องใช้สารเคมีแนะนำให้ใช้ สารเสต็พโตมัยซินซัลแฟต+ออกซีเตทตราไซคลินไฮโดรคลอร์ไรด์ (แคงเกอร์เอ็กซ์) หรือคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์(ฟังกูราน) หรือไอโซโปรไธโอเลน(ฟูจิ-วัน) หรือไตรเบซิคคอปเปอร์ซัลเฟต สำหรับใบขีดสีส้ม แนะนำใช้สารฆ่าแมลง เมื่อพบแมลงตัวอ่อน ใช้สารป้องกันและกำจัดแมลงพาหะที่เป็นตัวอ่อน เช่น – สารไดโนทีฟูเรน เป็นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว เป็นต้น อัตราการใช้คือ 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร สารบูโพรเฟซิน เป็นสารยับยั้งการลอกคราบของแมลง ควบคุมการฟักไข่ ลดการวางไข่ จึงสามารถควบคุมแมลงได้นาน ป้องกันกำจัดเพลี้ย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยกระโดด เพลี้ยจักจั่น อัตราการใช้คือ 20-30 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร อีโทเฟนพรอกซ์ เป็นสารกำจัดแมลงที่มีความเป็นพิษต่ำมากต่อมนุษย์ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และยังไม่ตกค้างในสภาพแวดล้อมนาน เหมาะสมสำหรับ ข้าว ไม้ผล พืชผัก ไม้ดอกไม้ประดับ โดยอัตราการใช้กับแมลงจะแตกต่างกัน เพลี้ยในข้าว ใช้อัตรา 40 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (อัตราการใช้น้ำ 40 ลิตรต่อไร่) พ่นให้ทั่วเมื่อพบเพลี้ยในนาข้าว เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ใช้อัตรา 20 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร (อัตราการใช้น้ำ 40 ลิตรต่ำไร่) พ่นให้ทั่วเมื่อพบการระบาดในข้าว ใช้สารสำหรับแมลงตัวเต็มวัย หากพบแมลงส่วนใหญ่เป็นตัวเต็มวัย ให้ใช้สารดังนี้ สารไทอะบีโทแซม (แอคทาร่า 25% ดับบลิวพี) เป็นสารที่ออกฤทธิ์แบบดูดซึม คุมได้นาน เป็นผงใช้ง่าย ไม่ฟุ้งกระจาย เป็นยาเย็น ใช้ป้องกันกำจัดแมลง อัตราการใช้ 1-5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร สำหรับฉีดพ่นเพื่อป้องกันเพลี้ยหรือแมลง และหากพบเพลี้ยแมลงระบาดควรใช้ในอัตรา 5-10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรืออัตรา 2 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

สารไดโนทีฟูแรน (สตาร์เกิล 10% ดับบลิวพี) เป็นสารกำจัดแมลงชนิดดูดซึม สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด โดยเฉพาะแมลงปากดูด เช่น เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่น เพลี้ยอ่อน แมลงหวี่ขาว เป็นต้น อัตราการใช้คือ 5-10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งจากการให้คำแนะนำและตรวจสอบในพื้นที่คาดการณ์ว่าจากการใช้หลักวิธีการป้องกันแบบผสมผสาน จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโรคที่จะกระจายในวงกว้างได้ และทำให้ผลผลิตได้รับความเสียหายน้อยลง สิ่งสำคัญคือเกษตรกรควรหมั่นสำรวจแปลงนาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบการเข้าทำลายของโรคในพื้นที่แปลงนาข้าว เกษตรกรควรรีบแจ้งข้อมูลกับทางสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปตรวจสอบและให้คำแนะนำวิธีในการป้องกันกำจัดได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดผลกระทบที่อาจสร้างความเสียหายต่อผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรในพื้นที่ได้